พระราชินี พระราชทานรางวัลการแข่งขันเรือใบ “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ทรงนำทีมเข้าเส้นชัยอันดับที่ 1
พระราชินี เสด็จฯ ไปพระราชทานรางวัลการแข่งขันเรือใบ “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 35 การนี้ ทรงร่วมแข่งขันเรือใบรุ่นไออาร์ซี ซีโร่ (IRC-Zero) ทรงนำทีมเข้าเส้นชัยอันดับที่ 1 ณ หาดกะตะ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
วันนี้ (9 ธันวาคม 2566) เวลา 15.24 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานรางวัลการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 35 ณ โรงแรมบียอนด์กะตะ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินถึงห้องกานดาฮอลล์ โรงแรมบียอนด์ กะตะ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการจัดการแข่งขันกิตติมศักดิ์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรการจัดงาน ฯ
ต่อจากนั้น พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายเควินรอเบิร์ต วิทคร๊าฟท์ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ฯ กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดการแข่งขัน ฯ และพระราชทานพระราชวโรกาสให้พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย นายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดการแข่งขัน ฯ เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย
ต่อมา พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายธอมัสอาร์เตอร์ วิทคร๊าฟท์ กราบบังคมทูลรายงานผลการแข่งขัน ฯ และเบิกทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันประเภทต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานรางวัล พร้อมทั้งเบิกผู้สนับสนุนการจัดงาน ฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานของที่ระลึก ตามลำดับ สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมการแข่งขันเรือใบนานาชาติ ชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 35 ในทีม "วายุ" รุ่น ไออาร์ซี ซีโร (IRC Zero) หมายเลขเรือ THA 72 เป็นเรือใบท้องเดี่ยวที่มีความเร็วและใหญ่ที่สุด ร่วมกับอดีตนักกีฬาเรือใบทีมชาติไทยและนักกีฬาต่างชาติร่วม 14 คน มีเรือเข้าแข่งขัน 4 ลำจาก 3 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ณ หาดกะตะ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยทีมเรือใบของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เข้าเส้นชัยในลำดับที่ 1 ทั้ง 2 รอบการแข่งขัน
นายทอมัสอาร์เตอร์ วิทคร๊าฟท์ คณะกรรมการจัดการแข่งขัน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 35 หนึ่งในสมาชิกทีมวายุ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี มีพระปรีชาสามารถและมีพรสวรรค์ ทักษะการเล่นเรือใบระดับนักกีฬาระดับประเทศ ทรงบังคับหางเสือเรือเพื่อให้เรือไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างเชี่ยวชาญ
ตลอดชีวิตที่เล่นเรือใบของผม นี่เป็นครั้งแรก ๆ ที่ผมประทับใจในพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระราชินีมาก ๆ เพราะพระองค์ทรงใช้เวลาศึกษาการเล่นเรือใบ จนได้รับยอร์ชมาสเตอร์จากประเทศอิตาลี เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น แต่สามารถบังคับหางเสือเพื่อให้เรือไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งต้องใช้ทักษะพิเศษเป็นอย่างมาก ต้องดูทั้งทิศทางลมและน้ำ เพื่อให้เรือถึงเป้าหมายเร็ว อีกทั้งยังทรงเล่นใบสปินเนเกอร์ตัวช่วยทำให้เรือแล่นตามลมด้วยความเร็วสูง ซึ่งต้องใช้ทักษะในการควบคุมสูงมาก ไม่เช่นนั้นใบเรือที่กางออกอาจจะพับตกน้ำได้ ซึ่งพระองค์ก็ทรงทำได้อย่างไม่มีที่ติ จนสามารถทรงทำให้เรือนำเข้าเส้นชัยเป็นอันดับแรกทั้งสองรอบของการแข่งขัน”
การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2530 ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา โดยสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กองทัพเรือ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะจัดการแข่งขันในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี การแข่งขันเรือใบ “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า”
ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 35 ประจำปี 2566 จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 2-9 ธันวาคม 2566 ณ หาดกะตะ จังหวัดภูเก็ต เพื่อน้อมรำลึกในพระอัจฉริยภาพ และพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบ ทรงพระปรีชาสามารถ และประสบความสำเร็จในระดับสากล
และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ที่ทรงสืบสานกีฬาเรือใบของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ และระดับนานาชาติ ซึ่งกีฬาเรือใบเป็นกีฬาระดับสากล และทรงส่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจแก่นักกีฬาเรือใบรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเยาวชนให้ได้ฝึกฝนทักษะ และพัฒนาต่อยอดการเล่นเรือใบสู่ระดับสากลต่อไป