กรมสมเด็จพระเทพ ทรงร่วม ”ไทย-จีน” ลงนามด้านอวกาศและสถานีวิจัยดวงจันทร์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน ”ไทย-จีน” ลงนามความร่วมมือด้านอวกาศและสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ ณ กรุงปักกิ่ง
เมื่อวันที่ 5 เม.ย.67 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานใน “พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและการใช้อวกาศส่วนนอกเพื่อสันติและบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ”
ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration : CNSA) โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. นายจาง เค่อเจี๋ยน (Zhang Kejian) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด อว. และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จและเป็นสักขีพยานการลงนามที่มี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัด อว. และนายสวี จ้านปิน (Xu Zhanbin) รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ของทั้งสองฝ่าย ณ สำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการและวิดีทัศน์เกี่ยวกับสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ ณ Cohesion Design Facility (CDF), LESEC และทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์ประกอบและทดสอบยานอวกาศและดาวเทียม (Assembly Integration and Test Center) ณ China Academy of Space Technology (CAST) ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ในบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ ไทยและจีนจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมและคณะทำงานร่วมในด้านการสำรวจอวกาศ การประยุกต์ใช้อวกาศ การพัฒนากำลังคนด้านอวกาศ และสาขาอื่น ๆ เพื่อวางแผนและดำเนินโครงการร่วมด้านอวกาศ โครงการแลกเปลี่ยนและการฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการร่วมจัดประชุมทางวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ และการเสริมสร้างความร่วมมือในรูปแบบอื่น ๆ
ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเน้นไปที่การสาธิต การดำเนินโครงการ การดำเนินงานและการประยุกต์ใช้สถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ จัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินการวิจัยและจัดทำแผนความร่วมมือ
ในขณะเดียวกัน ยังคงต้อนรับประเทศอื่น ๆ องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย หน่วยงานอุตสาหกรรม และนักวิทยาศาสตร์เข้าร่วมโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ และรับประโยชน์จากกิจกรรมการสำรวจอวกาศร่วมกัน
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปี พ.ศ. 2561 ไทยและจีนลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอวกาศ เพื่อร่วมกันสร้างโครงการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือเชิงพื้นที่แม่โขง-ล้านช้าง และโครงการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลการสำรวจระยะไกลแม่โขง-ล้านช้าง
และในปี พ.ศ. 2566 อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ (Space Weather) ที่พัฒนาโดยประเทศไทยและได้รับเลือกให้บรรทุกไปกับยานฉางเอ๋อ-7 (Chang'e 7) ซึ่งในอนาคตไทยและจีนจะร่วมมือกันในภารกิจสำรวจดวงจันทร์
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าความร่วมมือด้านอวกาศเป็นสาขาที่ไทยและจีนเห็นพ้องกันว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และกำลังคน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ดังจะเห็นได้จากการบรรจุความร่วมมือด้านอวกาศเป็นสาขาความร่วมมือใหม่ระหว่างไทยและจีน ในการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน เพื่อความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 4 เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา
กระทรวง อว. มีความร่วมมือกับหน่วยงานด้านอวกาศของจีนอย่างแน่นแฟ้น นับตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นความร่วมมือในระดับหน่วยงาน อาทิ การนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ด้านภูมิสารสนเทศ ระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และสถาบันวิจัยสารสนเทศอวกาศ ภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน
การสร้างดาวเทียมสำรวจโลก และพัฒนาทัศนูปกรณ์ทางแสงสำหรับปฏิบัติภารกิจในอวกาศ (TSC-Pathfinder) ในโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย ระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ สถาบันทัศนศาสตร์ เครื่องกลความแม่นยำสูง และฟิสิกส์ ภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน การสร้างและติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุในไทย เพื่อใช้สังเกตการณ์วัตถุอวกาศ วัดการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกอย่างแม่นยำ ร่วมกับหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น
และขณะนี้ที่กำลังดำเนินการอยู่ คือความร่วมมือพัฒนาอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์สำหรับยานฉางเอ๋อ-7 ระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศห้วงลึก สำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ซึ่งนำมาสู่การลงนามในความร่วมมือในวันนี้
การยกระดับความร่วมมือจากระหว่างหน่วยงานเป็นระดับรัฐในครั้งนี้ จะครอบคลุมในภาพรวมตั้งแต่การนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่าง ๆ ภายใต้การนำของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ไปจนถึงด้านการสำรวจอวกาศและวิทยาศาสตร์อวกาศ ภายใต้การนำของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้ความร่วมมือดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างก้าวกระโดด เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างสองชาติอย่างเข้มข้นและมิตรภาพที่แน่นแฟ้น และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนของทั้งสองชาติ
ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างไทยกับจีนครั้งนี้ สำเร็จได้ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับจีนมาเป็นเวลาช้านาน
นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรไทยอย่างแท้จริง จนได้รับการยอมรับจากประเทศจีนที่มีความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งยังประสบความสำเร็จด้านเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศในหลายภารกิจ นับเป็นการยกระดับขีดความของไทยที่จะนำพาประเทศสู่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อการพึ่งพาตนเองต่อไปในอนาคต
ซึ่งสอดคล้องกับหลักการดำเนินงานของ สดร. ที่มุ่งพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงสุด อันจะสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากรของไทย ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน