ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดบวรนิเวศวิหาร-วัดราชโอรสาราม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2567 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร และวัดราชโอรสาราม
วันนี้ (26 ตุลาคม 2567) เวลา 17.18 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2567 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงวัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จเข้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางผ้าไตรเหนือพานแว่นฟ้าที่หน้าอาสน์สงฆ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, ทรงหยิบผ้าห่มสำหรับพระประธาน พระราชทานเจ้าพนักงานภูษามาลา, เจ้าหน้าที่กรมการศาสนากราบบังคมทูลรายงานจำนวนพระสงฆ์ จบแล้ว ทรงหยิบผ้าไตรที่พานแว่นฟ้าพาดระหว่างพระกรทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน ทรงวางผ้าไตรไว้บนพานแว่นฟ้าที่เดิม แล้วทรงประเคนผ้าไตรและเทียนปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์รูปที่ 2 เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีกฐินกรรมแล้ว ทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งถวายสักการะพระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระอัฐิสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ทรงพระผนวช, แล้วทรงทอดผ้าไตร 10 ไตร พระสงฆ์ 10 รูปสดับปกรณ์ เมื่อพระสงฆ์ที่สดับปกรณ์และพระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐินออกไปครองผ้าพระกฐินเสร็จแล้ว, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายเครื่องบริวารพระกฐินแด่พระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก
จากนั้น ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมพระไพรีพินาศ (จำลอง) เนื้อเงิน ขนาดหน้าตัก 3 นิ้ว ซึ่งทางวัดจัดสร้างขึ้น เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ ภปร. พระไพรีพินาศ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัดฯ ประดิษฐานอยู่ ณ เก๋งน้อย บนชั้นที่สอง ลานประทักษิณ ด้านทิศเหนือของพระเจดีย์ภายในวัดฯ
โอกาสนี้ พระพรหมวชิรรังษี เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ถวายพระไพรีพินาศ (จำลอง) เนื้อทองคำ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายพระกริ่งบัวรอบ เนื้อทองคำ และเนื้อนวโลหะ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
จากนั้น เสด็จออกจากพระอุโบสถ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระมหาวชิรจุลมงกุฎยอดต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง สำหรับถวายพระพุทธชินสีห์ พระประธานประจำพระอุโบสถ เพื่อเป็นพุทธบูชา และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, ถวายพระพรชัยมงคล แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
และทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระไพรีพินาศ (จำลอง) เนื้อสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตัก 3 นิ้ว เพื่อพระราชทานแก่ผู้มีจิตศรัทธาที่บริจาคทุนทรัพย์ในโครงการจัดสร้างอาคารที่พักสำหรับพระสงฆ์และสามเณรที่มาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมชื่อวัดใหม่ สันนิษฐานว่าได้รับพระราชทานชื่อ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ขณะทรงพระผนวชอยู่ที่วัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาส ให้มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เมื่อปี 2379 ระหว่างที่ทรงพระผนวช ทรงก่อตั้งคณะธรรมยุติกนิกาย วัดบวรนิเวศวิหาร จึงเป็นวัดต้นแบบของคณะธรรมยุต ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยุบรวมวัดรังษีสุทธาวาสที่ตั้งอยู่ติดกัน เข้ากับวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี 2458 ซึ่งปัจจุบันยังคงเรียกส่วนที่เป็นวัดรังษีสุทธาวาสเดิมว่า "คณะรังษี" วัดบวรนิเวศวิหาร ถือเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงพระผนวชหลายพระองค์ และเป็นที่เสด็จสถิตของสมเด็จพระสังฆราช ถึง 4 พระองค์ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา สร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไท สมัยกรุงสุโขทัย สมัยเดียวกับพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสาราม เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงวัดราชโอรสาราม เสด็จเข้าพระอุโบสถพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางผ้าไตรเหนือพานแว่นฟ้าที่หน้าอาสน์สงฆ์ ทรงถวายพัดยศ ณ ที่ประดิษฐานหน้าพระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระประธานพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระประธานพระอุโบสถแล้ว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า
ในการนี้ ถวายพัดยศ (องค์ใหม่) เป็นพุทธบูชาแด่ พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระประธานประจำพระอุโบสถ ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อทดแทนพัดยศองค์เดิม ซึ่งได้สูญหายไปในปี 2549 โดยจัดสร้างขึ้นเมื่อคราวสมโภชพระอุโบสถ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฏาราชเจ้า ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาในฐานะทรงเป็นพุทธมามกะ จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่ วัดราชโอรสาราม นำไปจัดสร้างพัดยศขึ้นใหม่ โดยนำแบบลวดลายพัดยศ ของพระประธานพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มาเป็นต้นแบบ ในการจัดสร้างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์
จากนั้น ทรงหยิบผ้าห่ม สำหรับพระประธาน พระราชทานแก่เจ้าพนักงานภูษามาลา เชิญไปห่มถวายเป็นพุทธบูชา, ทรงหยิบผ้าไตรที่พานแว่นฟ้า พาดระหว่างพระกรแล้ว ทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน ทรงประเคนผ้าไตรและเทียนปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์รูปที่ 2 ในการนี้ พระสงฆ์ทำพิธีกฐินกรรม หรือ กรานกฐิน คือคณะสงฆ์ทำการลงมติ ยกผ้าพระกฐินให้แด่พระสงฆ์ รูปใดรูปหนึ่งซึ่งอยู่จำพรรษาภายในวัดครบ 3 เดือน โดยไม่เจาะจงผู้รับ ตามพระวินัยบัญญัติ เพื่อทดแทนผืนเดิมที่ชำรุด เมื่อพระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน ครองผ้าพระกฐินเสร็จแล้ว, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องบริวารพระกฐินแด่พระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก
ในโอกาสนี้ เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ถวายพระสมเด็จ เลี่ยมกรอบทองคำฝังเพชรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายพระรอด เลี่ยมกรอบทองคำฝังเพชรแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
วัดราชโอรสาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า เป็นวัดโบราณที่มีมาก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมเรียกว่า วัดจอมทอง , วัดเจ้าทอง หรือ วัดกองทอง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงนำทัพไปสกัดข้าศึกทางด่านเจดีย์ 3 องค์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้หยุดพักทัพประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองแห่งนี้ ภายหลังจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิสังขรณ์ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระอารามหลวง เมื่อแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชโอรส" หมายถึงวัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนาขึ้น การตกแต่งวัดส่วนใหญ่เป็นศิลปะแบบจีน แต่ยังคงความงดงามของศิลปกรรมไทยไว้ได้อย่างกลมกลืน เป็นการประยุกต์ศิลปกรรมที่ประณีต และเป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนสถานได้อย่างสง่างาม