ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2567 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

วันนี้ (25 ตุลาคม 2567) เวลา 17.18 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2567 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

ในการนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

จากนั้น เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานสงฆ์

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับผ้าไตรจากเจ้าพนักงานศุภรัต ทรงวางผ้าไตรเหนือพานแว่นฟ้า ซึ่งตั้งอยู่หน้าอาสน์สงฆ์ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธอังคีรส พระประธานพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7, พระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

จากนั้น ทรงหยิบผ้าห่มสำหรับพระประธานที่วางอยู่บนผ้าไตร พระราชทานเจ้าพนักงานภูษามาลา ทรงหยิบผ้าไตรที่พานแว่นฟ้าพาดระหว่างพระกร แล้วประนมพระหัตถ์ ผินพระพักตร์สู่พระประธานพระอุโบสถ ทรงว่า "นะโม ตัสสะฯ" จบ 3 หน แล้ว ผินพระพักตร์สู่ที่ชุมนุมสงฆ์ ทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน ทรงวางผ้าไตรไว้บนพานแว่นฟ้า ทรงประเคนผ้าไตรและเทียนปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์รูปที่ 2

โอกาสนี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระอัฐิ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน) พระราชอุปัธยาจารย์ ซึ่งประดิษฐานที่โต๊ะหมู่ ทรงทอดผ้าไตร 10 ไตรบนพระภูษาโยงที่อาส์นสงฆ์ พระสงฆ์ 10 รูปสดับปกรณ์

 

เมื่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงครองผ้าพระกฐินเสร็จ และทรงพระดำเนินกลับมาประทับที่เดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำเนินไป ทรงถวายเครื่องบริวารพระกฐินแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จากนั้น ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก

โอกาสนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายพระพุทธอังคีรส (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 3 นิ้ว เนื้อทองคำ ฐานเงิน 1 องค์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายพระพุทธอังคีรส (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 3 นิ้ว เนื้อเงิน 1 องค์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

สำหรับ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 ทั้งนี้ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามขึ้นเมื่อปี 2412 เป็นวัดประจำรัชกาล และพระราชทานชื่อวัด ซึ่งหมายถึง "วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง" และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ คำว่า "ราชบพิธ" หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง, คำว่า "บพิธ" มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วนคำว่า "สถิตมหาสีมาราม" หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

ในหลวง ราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดราชบพิธฯ-วัดพระเชตุพนฯ

เวลา 18.05 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

สำหรับประเพณีกฐินมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จัดขึ้นตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยปีนี้คือวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ถึง 15 พฤศจิกายน 2567

ซึ่งการถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามหลวง หรือ พระกฐินหลวง เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก แต่เนื่องจากพระอารามหลวงในประเทศไทยมี 189 พระอาราม ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินทุกพระอารามได้ จึงแบ่งพระกฐินเป็น 4 ประเภท คือ พระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง, พระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินและเสด็จแทนพระองค์, พระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล หรือ องคมนตรี และ พระกฐินพระราชทาน ที่ให้ส่วนราชการ องค์กร หรือบุคคลที่สมควรขอรับพระราชทาน เชิญไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวง

ในการนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ไวยาวัจกร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กราบบังคมทูลเบิกผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานของที่ระลึก

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อ วัดโพธาราม หรือ วัดโพธิ์  สร้างขึ้นระหว่างปี 2231-2246 สมัยพระเพทราชา กรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีพระราชาคณะปกครองตั้งแต่นั้นมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการบูรณะใหม่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดงานฉลองและพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ" เป็นวัดประจำรัชกาล ต่อมาปี 2374 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งเป็นเวลา 16 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงปฏิสังขรณ์พระรัศมีพระพุทธไสยาสน์ และทรงเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" ทรงสถาปนาพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4 ขึ้นในวัดอีกองค์หนึ่ง ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่สำคัญ อาทิ พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ ศาลาการเปรียญ ศาลาราย พระพุทธรูปและพระมณฑป ปัจจุบันมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นเจ้าอาวาส

เสด็จออกจากพระอุโบสถ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังลานเขตพุทธาวาส ทรงตัดแถบแพรเปิดงานสัปดาห์วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ

ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระราชกรณียกิจ และพระปรีชาสามารถด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า

ในฐานะ "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย" นิทรรศการและการสาธิตองค์ความรู้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และสมุนไพร อัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด นิทรรศการผลสำเร็จการดำเนินงานด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้านของหน่วยงานราชการ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ชมรม สมาคม และมูลนิธิต่างๆ

ในโอกาสนี้ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถวายโมเดลฤาษีดัดตน (จำลอง) 3 ตน แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

งานสัปดาห์วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ จัดขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดคุณค่า และความสำคัญของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ให้เกิดการศึกษาเรียนรู้แก่ประชาชนอย่างแพร่หลาย กับทั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ในฐานะ "พระมหากษัตริย์แห่งการแพทย์แผนไทย" ซึ่งทรงรวบรวมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยมาเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จากหลักฐานจารึกแผ่นศิลาที่ว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2374 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า เสด็จพระราชดำเนินมาทรงถวายผ้าพระกฐิน และทอดพระเนตรพระอุโบสถ พระวิหาร และเสนาสนะสงฆ์ต่างๆ ที่ชำรุดเสียหาย  จึงมีพระราชศรัทธาให้บูรณะปฏิสังขรณ์และขยายพื้นที่ให้มากขึ้น และทรงให้ก่อสร้างเสนาสนะสงฆ์ มีการจารึกตำราการแพทย์แผนไทยประดับไว้ตามศาลาราย จัดสร้างรูปฤาษีดัดตน และจารึกตำรายาต่างๆ ติดประดับไว้ในศาลา ซึ่งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรองให้ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นรากฐานที่สำคัญด้านสาธารณสุขของชาติไทยตลอดมา

ซึ่งในปีนี้ มีแนวคิดหลักในการจัดงาน คือ "หายป่วย รวยขึ้น ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และสมุนไพรไทย" โดยจัดงานระหว่างวันที่ 25 - 29 ตุลาคม 2567