ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ทรงเปิด "สะพานทศมราชัน"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด "สะพานทศมราชัน" ซึ่งมีความหมายว่า "พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 10"
วันนี้ (14 ธันวาคม 2567) เวลา 17.24 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด "สะพานทศราชัน" ณ สะพานทศราชัน ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับเสด็จ
"สะพานทศมราชัน" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ที่อยู่ในแผนแม่บททางพิเศษพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นโครงการข่ายพิเศษ สำหรับเชื่อมโยงการเดินทางแนวรัศมีระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ทางด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงการเดินทางจากจังหวัดภาคใต้เข้าสู่กรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว อันเป็นการช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด บนถนนพระรามที่ 2 ช่วงดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบางโคล่-ดาวคะนอง ตลอดจนเป็นเส้นทางทางเลือกของการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาวะไม่ปกติ เช่น การเกิดอุทกภัย
สำหรับ "สะพานทศมราชัน" เป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา คู่ขนานกับสะพานพระราม 9 กว้างที่สุดในประเทศไทย มีระยะทางรวม 2 กิโลเมตร โดยฝั่งธนบุรี เริ่มต้นที่เชิงลาดสะพานพระราม 9 แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ ส่วนฝั่งพระนคร เริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา มีรูปแบบโครงสร้างเป็นสะพานขึง ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง โดยมีช่องทางสำหรับรถบรรทุก จำนวน 1 ช่องจราจรต่อทิศทาง ความยาวสะพาน รวม 781.20 เมตร ซึ่งช่วงกลางสะพาน ยาว 450 เมตร โครงสร้างสะพานส่วนต่อเชื่อม มีรูปแบบเป็นคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง พื้นสะพานเป็นแบบโครงสร้างคอนกรีตประกอบเข้าโครงสร้างเหล็ก ง่ายต่อการบำรุงรักษา มีรูปแบบการจัดวางเคเบิลเป็นระบบเคเบิลสองระนาบ รูปแบบเสาสูงเป็นแบบสะพานคู่ ที่มีคานยึดระหว่างเสาสะพานคู่ เพื่อให้เสาสะพานมีเสถียรภาพต่อการใช้งานและการรับแรงลมที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน ชื่อ "สะพานทศมราชัน" มีความหมายว่า "พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 10" และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ เชิญตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประดิษฐาน ณ บนคานยอดเสาสะพานทศมราชัน
โดยแนวคิดในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมของสะพานฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากพระราชประวัติ คติความเชื่อ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี มาออกแบบเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย
ยอดของเสาสะพาน หมายถึง ฝ่าพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สื่อถึงการโอบอุ้ม ปกป้องพสกนิกร สายเคเบิล เป็นสีเหลือง สื่อถึงวันพระบรมราชสมภพ คือ วันจันทร์, โคนเสาสะพาน 4 ต้น มีประติมากรรมรูปพญานาคสีเหลืองทอง แทนปีมะโรง ปีพระบรมราชสมภพ, รั้วสะพานกันกระโดด เป็นลายดอกรวงผึ้งสีทอง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์ และราวกันตกริมด้านนอกสุดของสะพาน ออกแบบให้ดูโปร่ง โดยใช้วัสดุสแตนเลส