ในหลวง-ราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ จ.เชียงใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ (พระมหาธาตุประจำปีพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปีนักษัตรมะโรง) วัดพระสิงห์ และทรงประกอบพิธีสมโภชพระอัฏฐารส และพระอัครสาวก, ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในยอดฉัตรทองคำ เพื่อเชิญไปประดิษฐานเหนือปราสาทเฟื้องสับหลังคาพระวิหาร ณ วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมืองเชียงใหม่
จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อวานนี้ (5 มกราคม 2568) เวลา 17.04 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินถึงยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
โดยมี กองทหารเกียรติยศ, ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5, แม่ทัพภาคที่ 3, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5, และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับเสด็จ
จากนั้นเวลา 17.44 นาฬิกา 44 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินถึงยัง วัดพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ในการนี้ เสด็จเข้าพระวิหารหลวง ทรงรับพัดรองที่ระลึกตราสัญลักษณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จากเจ้าพนักงานพระราชพิธี, ทรงวางพัดรองที่ระลึกฯ ที่โต๊ะหมู่หน้าพระประธานประจำพระวิหารหลวง, ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชา "พระพุทธศรีสรรเพชญ" พระประธานพระวิหารหลวง ทรงกราบ แล้วทรงศีล "พระพุทธศรีสรรเพชร" เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นพระประธานเดิมของพระวิหารหลวงหลังเก่าก่อนสร้างขึ้นในสมัยครูบาศรีวิชัย
พระวิหารหลวง เป็นสถาปัตยกรรมลานนา กว้าง 24 เมตร ยาว 46 เมตร ผนังและเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก เครื่องบนไม้สักล้วน หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีมุขหน้าและมุขหลัง ส่วนพระวิหารหลวงเดิมเป็นแบบจตุรมุข ต่อมาได้ปรับปรุงให้เหลือเพียงมุขหน้าและมุขหลัง
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังพระวิหารลายคำ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาแต่โบราณกาล หล่อสำริดลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 1 เมตร สกุลช่างแบบเชียงแสน
ในพระวิหารลายคำ ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสังข์ทองและสุวรรณหงส์ เป็นผลงานสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเชียงใหม่
อีกหนึ่งปูชนียสถานสำคัญในวัดนี้ คือ “พระมหาธาตุเจดีย์” เป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรมะโรง สร้างขึ้นในสมัยพญาผายูหรือพระเจ้าผายู ต่อมาพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เจ้าแก้วนวรัฐ ครูบาศรีวิชัย และพุทธศาสนิกชน ได้บูรณปฏิสังขรณ์และเสริมสร้างให้สูงใหญ่ ภายในองค์พระธาตุ ประดิษฐานพระเกศาธาตุ ปัจจุบัน เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีทองอร่าม ซึ่งแต่เดิมมีสีขาว
โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงชักสายสูตรห่มผ้าที่องค์ “พระมหาธาตุเจดีย์” ซึ่งเป็นพระมหาธาตุประจำปีพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ กลองชุมประโคมถวายเป็นพุทธบูชา ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระบรมสารีริกธาตุ
ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินจากลานพระมหาธาตุเจดีย์ ไปยังพระวิหารหลวง ระหว่างเส้นทางที่ทรงพระดำเนินผ่าน มีการแสดงฟ้อนถวายพุทธบูชา เป็นการฟ้อนเล็บประกอบวงกลองตึ่งโนง ของนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่
ตลอดเส้นทางตกแต่งด้วยเครื่องสักการะบูชา หรือ "ขันดอก" บรรจุข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน ตัวขันสร้างจากโลหะ หรือไม้ ตกแต่งด้วยงานลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก อันเป็นงานหัตถศิลป์พื้นเมืองของล้านนา
เวลา 18.29 นาฬิกา เสด็จพระราชดำเนินไปยัง พระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมืองเชียงใหม่ ทรงประกอบพิธีสมโภชพระอัฏฐารส และพระอัครสาวก และทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีกริกธาตุในยอดฉัตรทองคำ เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานเหนือปราสาทเฟื้องสันหลังคาพระวิหารหลวง
ในการนี้ ทรงสรงพระบรมสารีริกธาตุ และทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระกรัณฑ์ แล้วทรงหยิบพระกรัณฑ์ลงในยอดฉัตรทองคำ จากนั้น พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในยอดฉัตรทองคำ แก่เจ้าพนักงานพระราชพิธี เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานที่บุษบกหน้าพระอัฏฐารส พระประธานประจำพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปยืน ปางประทานอภัย หรือปางห้ามญาติ พระพุทธรูปประจำวันจันทร์ วันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการบูรณะพระอัฏฐารส พระอัครสาวก แท่นแก้ว และชุดหน้าบันพระวิหารหลวง
จากนั้น ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก
ในโอกาสนี้ พระราชทานของที่ระลึกแก่ ผู้มีจิตศรัทธาบำรุงพระอาราม
ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินไปยัง พระธาตุเจดีย์หลวง ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาพระธาตุเจดีย์หลวง ทรงกราบ
ในการนี้ เจ้าพนักงานพระราชพิธี ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเทียน ทรงจุดไฟจากโคมไฟฟ้า แล้วพระราชทานแก่เจ้าพนักงานพระราชพิธี เชิญไปถวายเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เพื่อจุดบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภายในวัดเจดีย์หลวง ได้แก่ พระเจ้าอุ่มเมือง (เสาอินทขีล เสาหลักเมืองเชียงใหม่), พระเจ้าสมปรารถนา, พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน), และรูปเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง รูปที่ 2
วัดเจดีย์หลวง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง สร้างขึ้นในสมัยพญาแสนเมืองมา เจ้าหลวงพระองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย อายุประมาณ 633 ปี เป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ ด้วยเป็นวัดเก่า จึงทำให้เสนาสนะต่าง ๆ ทรุดโทรมตามกาลเวลา ประกอบกับฝนตกหนัก และเคยเกิดแผ่นดินไหว จึงทำให้พระธาตุเจดีย์หลวงพังทลาย ซึ่งกรมศิลปากรได้บูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จเมื่อปี 2535
พระเจดีย์หลวง อดีตเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นระยะเวลากว่า 80 ปี ปัจจุบัน เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วัดเจดีย์หลวง ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี 2481 ปัจจุบัน มีพระราชวชิรสิทธิ เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์และสามเณร รวม 50 รูป
ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในครั้งนี้ มีราษฎรจากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ต่างพร้อมใจไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับเสด็จ ด้วยความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดเส้นทางที่ทรงพระดำเนิน มีกลุ่มสตรีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กว่า 500 คน ร่วมฟ้อนเทียน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของภาคเหนือ อย่างงดงาม สมพระเกียรติ จากแสงเทียนที่เป็นประกายขณะที่เคลื่อนไหวไปตามจังหวะของเสียงเพลง
จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร.