“อุตตม” รอด-คำสั่ง คสช.ช่วยไว้! กกต.ยกคำร้องปมส่ง “สิระ” ลงเลือกตั้ง ส.ส.
“อุตตม สาวนายน” รอด! กกต.ยกคำร้องสมัยเป็นหัวหน้า พปชร.ส่ง “สิระ” ที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ ลงสมัคร ส.ส.ปี 62 อ้างได้อานิสงค์คำสั่งหัวหน้า คสช. 13/2561 ไม่ให้นำวิธีสรรหาผู้สมัครตามกฎหมายพรรคฯมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งแรก นำบทลงโทษมาเอาผิดไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยกคำร้องกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้เอาผิดกับนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฐานเจตนารับรองการส่งนายสิระ เจนจาคะ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562
โดย กกต.เห็นว่า ในการสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ซึ่งข้อ 4 ให้มีการยกเลิกข้อความในมาตรา 144 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และใช้ข้อความใหม่ที่มีเนื้อหาไม่ให้นำมาตรา 47 ถึง มาตรา 56 ที่กำหนดเกี่ยวกับวิธีการทำไพรมารีโหวต การส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง การให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการส่งผู้สมัคร มาบังคับใช้กับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มีผลใช้บังคับ และได้กำหนดวิธีการสรรหา การส่งผู้สมัคร ของพรรคการเมืองไว้เป็นการเฉพาะ
ดังนั้น การที่ นายอุตตม ในฐานะหัวหน้าพรรคลงนามรับรองการส่งนายสิระซึ่งเป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาคดีฉ้อโกง ลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่สามารถนำบทโทษ ตามมาตรา 117 ถึง มาตรา 120 พ.ร.ป.ว่าด้วยการพรรคการเมือง 2560 ที่กำหนดโทษสูงสุดของหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาและการส่งผู้สมัคร ไม่ถูกต้องครบถ้วน ตามที่กฎหมายกำหนด ว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี มาเอาผิดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีข้อสังเกตว่า ในกกต.ชุดที่ผ่าน ๆ มา หากพบว่า ผู้สมัครขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากกกต.จะมีมติให้ดำเนินคดีกับผู้สมัครฐานรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิสมัครแต่ยังลงสมัครแล้ว ยังมีมติให้สำนักงานฯ แจ้งความดำเนินคดีกับหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นผู้ลงนามในหนังสือรับรองส่งผู้สมัคร ฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งให้กระทำความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2554 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2550 ที่ได้วางบรรทัดฐานไว้
กรณี นายสิระ ก่อนหน้านี้ กกต.มีมติให้สำนักงานฯ แจ้งความดำเนินคดีฐานรู้อยู่แล้วว่า ตนมีลักษณะต้องห้ามไม่มีสิทธิสมัครแต่ยังลงสมัคร แต่การพิจารณากรณี นายอุตตม ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขณะนั้นลงนามหนังสือรับรองส่ง นายสิระ ลงสมัคร สำนักงานฯ ก็มีการเสนอแนวปฎิบัติของกกต.ที่ผ่านมา ที่มีมติให้ดำเนินคดีกับหัวหน้าพรรคในฐานผู้สนับสนุนผู้สมัครกระทำความผิด รวมถึงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาต่อที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย แต่กกต.ก็มีมติยกคำร้องด้วยเหตุผลดังกล่าว