อำนาจมาพร้อมความรับผิดชอบ “โรม” โต้แนวทางศาลจัดการคนปล่อยภาพ “ผู้พิพากษา”
“โรม” ออกโรงโต้ “ศาล” หลังเตรียมมีแนวทางจัดการคนปล่อยภาพ “ผู้พิพากษา” ยันอำนาจมาพร้อมความรับผิดชอบ ถ้าอ้างนามกฎหมายริบอิสรภาพประชาชน ต้องเปิดเผยตัวตนให้สังคมได้ตรวจสอบ
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการไต่สวนการประกันตัวของศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ต่อ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2565 ว่า ศาลได้กล่าวในระหว่างการไต่สวนว่า จากที่มีการโพสต์สาธารณะระบุถึงชื่อผู้พิพากษา เช่นที่มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ศาลจะมีแนวทางในการจัดการต่อเรื่องดังกล่าว กรณีที่ทนายความเป็นผู้กระทำ จะแจ้งสภาทนายความให้ทราบ ส่วนกรณีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้กระทำ ทางสำนักงานของศาลจะดำเนินคดีต่อบุคคลเหล่านั้น
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ช่างน่าเหลือเชื่อจริง ๆ ที่ศาลไทยหลงลืมแม้กระทั่งหลักการพื้นฐานที่สุดของการเป็นผู้ใช้อำนาจที่กระทบต่อประชาชน นั่นคือการที่ผู้ใช้อำนาจจะต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจของตนด้วย เพราะในแต่ละคำสั่งหรือคำพิพากษาที่เอ่ยออกมาผ่านปาก ลงนามผ่านมือ กำลังทำให้ใครหลาย ๆ คนต้องสูญเสียอิสรภาพที่พวกเขาพึงมี และในเมื่อศาลเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับเงินภาษีจากประชาชน แล้วทำไมประชาชนที่เคยถูกใช้อำนาจริบอิสรภาพไป หรืออาจต้องรอรับผลของการใช้อำนาจของศาลในวันข้างหน้า จะตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลบ้างไม่ได้ จะวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาก็กลายเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แม้กระทั่งจะทราบชื่อว่าผู้ที่ออกคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นออกมาคือใคร ก็ยังจะถูกปกปิดไม่ให้รับรู้ด้วยการขู่ดำเนินคดีผู้เปิดเผยชื่ออีก
“ตัวผมเองและเพื่อนๆ ส.ส. ที่ทำงานในสภา ก็เป็นผู้ใช้อำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติ ออกกฎหมายหรือเสนอญัตติที่ส่งผลต่อประชาชน ในการลงมติแต่ละครั้งก็มีการบันทึกไว้ทั้งหมดว่า ส.ส. แต่ละคนลงมติไว้ว่าอย่างไร หากใครลงมติสวนทางกับเจตนารมณ์ของประชาชน สวนทางกับอุดมการณ์ของพรรค สวนทางกับหลักการที่ควรจะเป็น ก็ย่อมถูกประชาชนรับรู้และวิพากษ์วิจารณ์ได้ และต้องชี้แจงการกระทำของตัวเองต่อสังคม นี่คือวิถีทางปรกติที่ผู้มีอำนาจจะต้องรับผิดชอบต่อผู้รับผลของอำนาจ ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ทั้งสภา ทั้งรัฐบาล และศาลก็ด้วย” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่างกรณีการไต่สวนถอนการประกันตัวของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 จากกรณีการทำกิจกรรมทางการเมืองเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ว่า ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า เป็นเสรีภาพที่ประชาชนพึงกระทำได้ และอยู่ในวิสัยที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะจัดการให้ไม่เกิดอันตรายได้ ขณะที่การที่ศาลใช้เหตุดังกล่าวในการถอนประกันด้วยเหตุผลว่าเป็นการสร้างความวุ่นวาย หรือเป็นการกระทำซ้ำสิ่งที่ถูกกล่าวหา ทั้งที่การกระทำเหล่านั้นยังไม่ถูกตัดสินเด็ดขาดว่าเป็นความผิดแล้ว ย่อมเป็นการลิดรอนเสรีภาพของประชาชนไปโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้จึงขอยืนยันในหลักความเป็นผู้บริสุทธิ์ต่อหน้ากฎหมายจนกว่าจะได้รับการพิพากษาอย่างถึงที่สุด ที่ซึ่ง น.ส.ทานตะวัน รวมถึงผู้ต้องหาคดีการเมืองอื่นๆ จะต้องได้รับโดยการได้ประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราวออกมาด้วย
รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า นอกจากนี้ เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า การไม่ให้ประกันตัวเช่นนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 หรือผู้ชุมนุมทางการเมืองอยู่เสมอ รวมถึงพฤติการณ์ของฝ่ายรัฐตลอดที่ผ่านมาแล้ว ประชาชนก็สมควรที่จะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งเช่นนี้ได้ว่าถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือไม่ สมเหตุสมผลดังที่ศาลกล่าวอ้างมาหรือไม่ มีบริบทแวดล้อมอะไร หรืออย่างน้อยที่สุดก็ขอให้ได้รู้ชื่อของผู้ที่ออกคำสั่งเช่นนี้
“ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า นี่คือความรับผิดชอบขั้นต่ำที่สุดของผู้ใช้อำนาจรัฐที่จะต้องเปิดเผยตัวตนต่อประชาชน หากศาลอ้างว่าผู้พิพากษาถูกคุกคามก็ขอให้ระบุมาให้ชัดว่าท่านถูกคุกคามอย่างไร เป็นอันตรายต่อตัวท่านอย่างไร มิใช่เที่ยวไปปิดปากคนที่เพียงระบุชื่อพวกท่าน โดยหาว่าเป็นการคุกคามไปทั้งหมด และหากว่าห่วงใยเรื่องการคุกคามจริงๆ ก็ขอให้ช่วยเหลียวแลไปยังจำเลยผู้เป็นประชาชนคนธรรมดาต่างๆ ว่าเขาถูกคุกคามอย่างไรบ้างในกระบวนการสอบสวนหาพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเอามาเสนอพวกท่านในชั้นศาล หวังว่าพวกท่านจะได้ช่วยป้องกันและปราบปรามไม่ให้เกิดขึ้น และหวังว่าพวกท่านจะไม่ได้กลายเป็นส่วนร่วมของกระบวนการเหล่านี้เสียเอง” นายรังสิมันต์ กล่าว