เปิดไทม์ไลน์-โฆษกศาลแจงปมออกหมายจับ "โรม" เผยอ้างประชุม กมธ.ไม่จริง
"โฆษกศาลยุติธรรม" ชี้แจงละเอียดยิบ! ปมศาลออกหมายจับ "รังสิมันต์ โรม" คดีหมิ่นประมาท อภิปรายนอกสภาฯ "เครือข่ายป่ารอยต่อฯ" เผยไทม์ไลน์ชัด พนง.สอบสวนฯ ออกหมายเรียกแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่มา ก่อนอ้างติดประชุม กมธ. แต่ครั้งหลังสุดไม่มีประชุมจริง จึงออกหมายจับ
วันที่ 25 มี.ค. 2565 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งถูกพนักงานสอบสวน สน.บางขุนนนท์ แจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา (มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดเป็นผู้เสียหาย) ได้โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียล และให้สัมภาษณ์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอออกหมายจับและคำสั่งออกหมายจับของศาลอาญาตลิ่งชัน ว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564 พนักงานสอบสวน สน.บางขุนนท์ ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับ นายรังสิมันต์ ผู้ต้องหา โดยอ้างเหตุผู้ต้องหาไม่พบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 15 ต.ค. 2564 และวันที่ 26 ต.ค. 2564 โดยศาลอาญาตลิ่งชัน ดำเนินการไต่สวนผู้ร้องแล้วเห็นว่า ในวันดังกล่าวยังไม่มีเหตุออกหมายจับ เนื่องจากปรากฏตามรายงานว่าผู้ต้องหาติดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ระหว่างวันที่ 25-27 ต.ค. 2564 จึงมีเหตุผลที่ผู้ต้องหาไม่อาจไปพบพนักงานสอบสวนได้ มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอออกหมายจับ
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ต่อมาวันที่ 5 มี.ค. 2565 พนักงานสอบสวน สน.บางขุนนท์ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอออกหมายจับเป็นครั้งที่ 2 โดยอ้างเหตุผู้ต้องหาไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ศาลไต่สวนผู้ร้องแล้ว เห็นว่าในขณะที่ออกหมายเรียกยังอยู่ในสมัยประชุมรัฐสภาอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 125 เมื่อผู้ต้องหาไม่ได้ไปพบผู้ร้องในวันนัด จึงไม่เป็นการขัดหมายเรียก จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอออกหมายจับ
ต่อมาวันที่ 14 มี.ค. 2565 พนักงานสอบสวน สน.บางขุนนท์ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอออกหมายจับครั้งที่ 3 โดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหาไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกในวันที่ 11 มี.ค. 2565 ศาลไต่สวนพยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบพยานเอกสารคำร้องขอความเป็นธรรมของนายรังสิมันต์ ที่ยื่นต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแล้ว นัดให้ฟังมีคำสั่งวันที่ 15 มี.ค. 2565
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ศาลอาญาตลิ่งชัน มีคำสั่งให้ออกหมายจับผู้ต้องหา เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานจากการไต่สวนว่า ผู้ร้องยืนยันว่าผู้ร้องได้ทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในคดีนี้จนเสร็จสิ้นแล้วมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายรังสิมันต์ โรม ผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาและดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา
สำหรับไทม์ไลน์คดีดังกล่าว คือ
ผู้บังคับบัญชามีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2564 ผู้ร้องประสงค์จะนำตัว ผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการอันเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142 จึงมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2564 ให้ไปพบผู้ร้องในวันที่ 15 ต.ค. 2564
ในวันที่ 15 ต.ค. 2564 ผู้รับมอบอำนาจผู้ต้องหาได้มา แจ้งเหตุขัดข้องว่าผู้ต้องหาติดประชุมพรรคก้าวไกลขอเลื่อนการเข้าพบผู้ร้องเป็นวันที่ 26 ต.ค. 2564 ผู้ร้องจึงได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 2 ลงวันที่ 14 ต.ค.2564 ให้ผู้ต้องหาไปพบผู้ร้อง
ในวันที่ 26 ต.ค. 2564
ในวันที่ 25 ต.ค. 2564 ผู้รับมอบอำนาจผู้ต้องหาได้มาแจ้งเหตุขัดข้องว่า ผู้ต้องหาติดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการ ทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ... ขอเลื่อนวันเข้าพบผู้ร้องออกไปก่อน แต่ผู้ร้องได้แจ้งแก่ ผู้รับมอบอำนาจผู้ต้องหาว่า วันนัดวันที่ 26 ต.ค. 2564 เป็นวันที่ผู้ต้องหาเป็นผู้กำหนดเองจึงขอให้ไป แจ้งผู้ต้องหาให้มาพบผู้ร้องในวันดังกล่าว แต่ผู้ต้องหาก็ไม่ได้มาตามนัดและตามหมายเรียก
ต่อมาผู้ร้อง โทรศัพท์ไปหาทนายความของผู้ต้องหาเพื่อให้สอบถามผู้ต้องหาว่าจะมาพบผู้ร้องได้เมื่อไร ทนายความ ของผู้ต้องหาแจ้งแก่ผู้ร้องว่าผู้ต้องหาตกลงจะมาพบผู้ร้องในวันที่ 3 พ.ย. 2564 แต่ผู้ต้องหาก็ไม่ได้มาตามที่นัด
กระทั่งผู้ร้องได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งล่าสุดลงวันที่ 5 มี.ค. 2565 ให้ไปพบผู้ร้องในวันที่ 11 มี.ค. 2565 แต่ผู้ต้องหาก็ไม่ได้มาพบผู้ร้องตามหมายเรียก โดยเพียงแต่ให้ผู้รับมอบ อำนาจมาแจ้งเหตุขัดข้องว่าผู้ต้องหาติดประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ขอเลื่อนวันเข้าพบผู้ร้องเป็นวันที่ 31 มี.ค. 2565 โดยได้แนบ หลักฐานสรุปผลการประชุมคณะทำงานการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายปกครองหรือตำรวจครั้งที่ 2 ลงวันที่ 5 มี.ค. 2565 และประกาศคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และ การมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งคณะทำงานศึกษาการบังคับใช้กฎหมายของ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยมีผู้ต้องหาเป็นหนึ่งในคณะทำงานในตำแหน่งรองประธานคนที่ 2 เท่านั้น แต่ไม่ปรากฎรายละเอียดที่แสดงว่าผู้ต้องหาติดประชุมในวันที่ 11 มี.ค. 2565 ตามที่กล่าว อ้างแต่อย่างใด
ทั้งนี้ผู้ร้องยังได้ตรวจสอบในเว็บไซต์คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็ไม่พบว่ามีการนัดประชุมในวันที่ 11 มี.ค. 65
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวด้วยว่า ศาลจึงเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างของผู้ต้องหาที่ไม่มาพบผู้ร้องในวันที่ 11 มี.ค. 2565 ตามหมายเรียกโดยอ้างเหตุว่าติดประชุมไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากไม่ปรากฏรายละเอียดที่แสดงว่าผู้ต้องหาติดประชุมในวันที่ 11 มี.ค. 2565 ตามที่กล่าวอ้าง และส่อไปในทางบ่ายเบี่ยงไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่มาตามหมายเรียก ถือว่าเป็นการไม่มาตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรและให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี เมื่อได้ความว่าผู้ร้องมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา จึงเป็นกรณีที่มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนีไม่ยอมมาพบผู้ร้องตามหมายเรียก จึงอนุญาตให้ออกหมายจับผู้ต้องหาตามขอ และเมื่อจัดการตามหมายจับได้แล้วให้ส่งบันทึกการจับกุมต่อศาลภายใน 7 วัน
ต่อมา ในวันที่ 17 มี.ค. 2565 นายรังสิมันต์ ผู้ต้องหา มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกรณีการขอออกหมายจับยื่นถึงอธิบดีผู้พิพากษาตลิ่งชัน ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาฯ พิจารณาทุกประการแล้วเห็นว่าพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 ศาลได้ไต่สวนพยานบุคคล พยานหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งพยานเอกสารคำร้องขอความเป็นธรรม แล้วมีคำสั่งในวันที่ 15 มี.ค. 2565 ให้ออกหมายจับตามคำขอ