ชาวกรุง นับถอยหลัง “เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ชาวกรุง นับถอยหลัง “เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือน สำหรับการ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ที่รอคอยมาเกือบ 10 ปี ต้องเตรียมเอกสารอะไรและตรวจสอบสิทธิอย่างไรบ้าง

เหลือกเวลาอีกไม่นานสำหรับการเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” และ “สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร” (ส.ก.) ที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 2565 เวลา 08.00 – 17.00 น. นี้

ซึ่งในครั้งนี้มีผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งพ่อเมือง "ผู้ว่าฯ กทม." มากถึง 31 คน ตัดสิทธิ 1 ราย โดยมีทั้งผู้สมัครที่มาจากพรรคการเมืองและผู้สมัครในนามอิสระ เป็นผู้สมัครเพศชาย 25 คน ผู้สมัครเพศหญิง 6 คน

ส่วนผู้สมัคร ส.ก. ทั้งหมด 50 เขต มีผู้สมัครรวม 382 คน ที่ผ่านการรับสมัครไปแล้วเมื่อ ระหว่างวันที่ 31 มี.ค. 65 - 4 เม.ย. 65 ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง

และเนื่องจากไม่ได้มีการเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯ กทม." และ "ส.ก." มานานหลายปี หลายคนอาจจะยังไม่เคยเลือกตั้งมาก่อนและถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก หรืออีกหลายคนอาจจะยังไม่แน่ใจในการเช็กสิทธิเลือกตั้งของตัวเอง รวมถึงรูปแบบของการเลือกตั้งในครั้งนี้

ตรวจสอบผู้ที่มีสิทธิลงคะแนน “ผู้ว่าฯ กทม.” และ “ส.ก.”

1. มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี

2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง คือเกิดก่อนวันที่ 24 พ.ค. 2547

3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง (สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อนวันที่ 23 พ.ค.2564 และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก.ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเขตพื้นที่ก่อนวันที่ 23 พ.ค.2564

4. คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบสิทธิทางช่องทางออนไลน์ได้ที่นี่ เว็บไซต์ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ที่ stat.bora.dopa.go.th 

แต่ถ้าหากไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน คือ ก่อนวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 15 - 21 พ.ค. 65 และหลังวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23 - 29 พ.ค. 65

"สีบัตร" เลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” และ “ส.ก.”

บัตรลงคะแนนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้บัตรสีน้ำตาล

บัตรลงคะแนนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ใช้บัตรสีชมพู

ขั้นตอนการดำเนินการตามแผนการจัดการเลือกตั้งต่อไป 

1. การประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง ภายในวันที่ 26 เม.ย. 

2. การประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ภายในวันที่ 26 เม.ย. 65 

3. การแต่งตั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง / รปภ. / อสส. / เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ภายในวันที่ 1 พ.ค. 65 

4. การส่งหนังสือรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งเจ้าบ้าน ภายในวันที่ 6 พ.ค. 65 

5. การเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง / การเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ ภายในวันที่ 11 พ.ค.65

6. ส่งหนังสือแต่งตั้งตัวแทนผู้สมัคร ภายในวันที่ 14 พ.ค. 65 

7. การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รอบแรก วันที่ 15–21 พ.ค.65 และรอบหลัง วันที่ 23–29 พ.ค.65 

8. การจัดอบรมเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง และส่งมอบวัสดุอุปกรณ์เลือกตั้ง วันที่ 21 พ.ค.65