ป.ป.ช.แพร่ผลงานปีงบ 65 ชง 3 มาตรการป้องโกง-ร้อง 102 เรื่อง ลงพื้นที่สอบแล้ว
ป.ป.ช.แพร่ผลดำเนินงานสำคัญ “ป้องกัน-ปราบปราม” ทุจริต ประจำปีงบ 65 ไตรมาส 1-2 ชง ครม.แก้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน แก้ปัญหารุกใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ เปิดเอกชนอื่นแข่งขันคลังน้ำมันสุวรรณภูมิ ส่วน CDC รวมเรื่องร้องเรียนปี 65 จำนวน 102 เรื่อง ลงพื้นที่สอบแล้ว
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2565 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า การขับเคลื่อนงานด้านป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย ควบคู่ไปกับการตอบสนองเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ดังนั้น ในการดำเนินงานการป้องกันการทุจริตจะเริ่มตั้งแต่การเฝ้าระวัง การปลูกฝัง การป้องกัน ตลอดจนการแก้ไข โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ การเสริมสร้างคุณธรรม ความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลแก่หน่วยงานภาครัฐ การกำหนดมาตรการ ความเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนการเฝ้าระวังสถานการณ์การทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565 มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 รับทราบและให้กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและให้รายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบภายใน 30 วันด้วย
รวมถึงมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ กรณีปัญหาการบุกรุกและการใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าไม้ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหา 4 ด้านคือ ด้านการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ด้านการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ ด้านการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกที่ดินของรัฐ และด้านการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินป่าไม้ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้คณะกรรมการบริหาร การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ดำเนินการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกันอย่างเป็นระบบ และให้คณะรัฐมนตรีตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ที่มีมติให้มีผู้ประกอบการคลังน้ำมันนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงรายเดียว และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ที่มีมติให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันเอกชนรายอื่นสามารถสร้างคลังน้ำมันภายนอกเขตสนามบินสุวรรณภูมิได้หลายรายมากขึ้น นอกเหนือจากบริษัทเอกชนรายเดียวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงประโยชน์จากการเปิดการแข่งขันด้านราคาและการให้บริการคลังน้ำมันอย่างเป็นธรรมกับความมั่นคงในระบบน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินในท่าอากาศยาน อันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีมาตรฐานสากลเทียบเท่าท่าอากาศยานนานาประเทศ
ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (CDC) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมปัญหาเรื่องร้องเรียนการทุจริตทั่วประเทศจากทุกแพลตฟอร์ม พบว่าระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 มีจำนวน 102 เรื่อง โดยแบ่งเป็น 5 เขตพื้นที่ แบ่งออกเป็นเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ดังนี้
- ภาคกลาง จำนวน 23 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 ภาค 7 และกรุงเทพมหานคร
- ภาคเหนือ จำนวน 16 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 และ ภาค 6
- ภาคใต้ จำนวน 26 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 และ ภาค 9
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 30 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 3 และ ภาค 4
- ภาคตะวันออก จำนวน 7 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 2
โดยมีแหล่งที่มา 3 ส่วน ได้แก่
- ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดจำนวน 5 เรื่อง
- ชมรม STRONG ต้านทุจริต จำนวน 36 เรื่อง
- สื่อมวลชน / สื่อสังคมออนไลน์ จำนวน 61 เรื่อง
โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เข้าไปดำเนินการป้องกัน ป้องปรามการทุจริต ในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว จำนวน 23 เรื่อง โดยมีตัวอย่าง
1.กรณีประชาชนตั้งข้อสงสัย โครงการทางลาดลำเลียงผู้โดยสารทุพพลภาพขึ้น - ลง อากาศยาน ณ สนามบินน่านนคร จังหวัดน่าน โดยระบุว่ามีการซื้อแล้วแต่ไม่ได้นำมาใช้งาน ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จังหวัดน่าน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ทางลาดลำเลียงผู้โดยสารฯ ดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบดูแล ของท่าอากาศยานและมีการนำมาใช้งานตามปกติ ซึ่งขั้นตอนการใช้งานนั้นสายการบินจะต้องประสานมายังท่าอากาศยานเพื่อแจ้งความประสงค์ขอใช้งาน และจากการทดสอบการใช้งานทางลาดลำเลียงผู้โดยสารฯ ดังกล่าว พบว่า สามารถใช้งานได้ตามปกติ
2. โครงการจ้างก่อสร้างถนนลาดยางผิวทางพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต สาย พจ.ถ.18-025 DK2 บ้านแหลมสน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ระยะเวลาผ่านมาเพียง 1 เดือน พบผิวถนนแตกเป็นแนวยาว ซึ่งจากการลงพื้นที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร พบว่า ถนนสายดังกล่าว ยังอยู่ในระยะประกันสัญญา โดยผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบดำเนินการแก้ไขให้ถนนอยู่ในสภาพที่ไม่ชำรุดเสียหาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้รับจ้างจะเข้าดำเนินการซ่อมแซมโดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจากแขวงทางหลวงพิจิตรร่วมให้ข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดแนวทางในการซ่อมแซมถนนให้เป็นไปตามหลักมาตรฐาน สามารถใช้งานได้โดยไม่เกิดการชำรุดเสียหายอีก ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบว่าโครงการดังกล่าวมีการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร จะดำเนินการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของภารกิจด้านการปราบปรามการทุจริตต่อไป
3. เครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริตภาคประชาชน Facebook เพจ คิด ทำ ทิ้ง เผยแพร่ข้อมูลโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 - 17 กันยายน 2563 แต่ดูจากความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้ว เกรงว่าปีนี้จะยังไม่ได้ใช้งาน สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช งบประมาณ จำนวน 17,970,000 บาท อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินที่ไม่ชัดเจน และมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้าง จึงทำให้ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้าง เริ่มงานก่อสร้างได้ อีกทั้ง ระหว่างการก่อสร้างผู้รับจ้างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ทำให้การดำเนินการก่อสร้างล่าช้าและมีการขอขยายระยะเวลาในสัญญาจ้าง โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แนะนำให้ผู้รับผิดชอบโครงการออกประกาศชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนทราบ และเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จให้เร็วที่สุด
4. กรณีที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีการตัดยอดภูเขาสูงชันทั้งลูก ออกโฉนด ทำทางขึ้น เป็นที่ส่วนบุคคล ติดป้ายห้ามเข้า และให้นายหน้าประกาศขายที่ดินทาง Facebook โดยเหตุเกิดในพื้นที่เทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ทราบและลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า พื้นที่เกิดเหตุตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 บ้านสบรวก ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พื้นที่มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน มีการไถที่ดินเป็นทางรถยนต์เพื่อขึ้นไปบนยอดเขา และบนยอดเขามีการขุดดินและปรับเกลี่ยดินเป็นบริเวณกว้าง โดยที่ดินดังกล่าวเป็นที่มีเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จำนวน เนื้อที่ 24 ไร่ 85 ตารางวา
จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศโดยเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) พบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าน้ำมะและป่าสบรวก” แต่กลับมีหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งออกจากแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และเจ้าของที่ดินเคยขอรังวัด เพื่อออกโฉนดที่ดินแล้ว แต่ไม่สามารถออกได้เนื่องจากที่ตั้งของที่ดินไม่ตรงกับเอกสารสิทธิที่ถือครองอยู่ โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าว อาจดำเนินการโดยมิชอบ
สำหรับกรณีการขุดดินและปรับเกลี่ยดิน พบว่า มีการดำเนินการหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้ออกใบรับแจ้งการขุดดินหรือถมดิน (แบบ ขถด.2) ขุดดินมีความลึกเฉลี่ย 17.70 เมตร พื้นที่ 12,928 ตารางเมตร กำหนดแล้วเสร็จภายใน 365 วัน โดยจะเริ่มขุดดินในวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557
จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงเป็นที่น่าสงสัยว่า เพิ่งมีการขุดดินและปรับเกลี่ยดินได้ไม่นานเนื่องจากร่องรอยยังใหม่ อีกทั้งจากการคำนวณขนาดพื้นที่ขุดดินของเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ผ่านระบบภาพถ่ายดาวเทียม ในปี 2564 กลับพบว่า มีปริมาณพื้นที่ขุดดินประมาณ 34,348 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าที่เคยได้รับใบแจ้งจากเทศบาลตำบลเวียง
กรณีนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ควบคุม กำกับ และตรวจสอบให้ดำเนินการขุดดินเป็นไปตามใบรับแจ้งตามพระราชบัญญัติการขุดดินและการถมดิน พ.ศ. 2543 โดยประเด็นดังกล่าวรวมถึงกรณีการประกาศขายที่ดินทางสื่อสังคมออนไลน์นั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ติดตามประสานข้อมูลเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมและจะรวบรวมเสนอให้สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการต่อไป