สิ้น "เจริญ คันธวงศ์" อดีตส.ส.ปชป.เจ้าของฉายา "คนดีศรีสภา"
มะเร็งคร่า "เจริญ คันธวงศ์" อดีตส.ส.ปชป.-อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ในวัย89ปี ย้อนผลงานเป็นเจ้าของฉายา "คนดีศรีสภา" ประจำปี2552 จากสื่อมวลชนรัฐสภา
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว “คันธวงศ์” ท่านอาจารย์เจริญ คันธวงศ์ ได้จากพวกเราไปอย่างสงบเมื่อเช้านี้ ใจหายเป็นที่สุด เพราะอาจารย์เป็นเสมือนคุณพ่อในสภา เป็นที่รักและเคารพยิ่งของชาวประชาธิปัตย์และเพื่อนส.ส.ทุกพรรค”
“ในช่วงที่ท่านยังเป็นส.ส. สุขภาพท่านก็ไม่ดีนัก ป่วยเป็นมะเร็งมาอย่างยาวนาน แต่ก็ปฏิบัติหน้าที่นักการเมืองที่ห่วงประชาชน และรับผิดชอบงานสภาไม่เคยขาด ในบางวันที่ต้องไปตรวจสุขภาพ ก็จะรีบกลับมานั่งในสภาเสมอ จนได้รับการยกย่องให้เป็น “คนดีศรีสภา””
“นึกถึงวันเก่าๆที่ได้เป็นทั้งเพื่อนร่วมงานในกรรมาธิการการต่างประเทศ อาจารย์จะสอนสารพัด ทั้งในเรื่องวิชาการ มารยาททางการเมือง การดำรงตนให้เป็นนักการเมืองของประชาชน ยามทานข้าวได้มีโอกาสดูแลท่าน วันอภิปรายที่ต้องอยู่กันจนดึกดื่น อาจารย์ไม่เคยหนีกลับก่อน ไม่เคยใช้ความอาวุโสเพื่อใช้อภิสิทธิ์”
“รู้สึกโชคดีเหลือเกินที่ได้เริ่มต้นงานการเมืองกับผู้อาวุโสที่เปี่ยมไปด้วยความดีงาม เป็นตัวอย่างให้เราได้ศึกษาและพัฒนา”
ด้วยความเคารพรักอาจารย์เจริญเป็นที่สุด ขอให้อาจารย์ไปสู่สุคติค่ะ
ประวัติ เจริญ คันธวงศ์
สำหรับนายเจริญ คันธวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2476 ที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เป็นบุตรของนายคำมูล และนางน้อย คันธวงศ์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยมอันดับ 2) ปริญญาโท ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และปริญญาเอก การบริหารอุดมศึกษา จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ สหรัฐอเมริกา
เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร ในเขตคลองเตย ยานนาวาและบางคอแหลมมาอย่างยาวนานต่อเนื่องถึง 8 สมัย โดยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด มีเพียงครั้งเดียวที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งคือ ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2535 ครั้งที่หนึ่ง ซึ่งกระแสพรรคพลังธรรมมาแรงในเวลานั้น และในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 ได้ย้ายไปลงในระบบบัญชีรายชื่อ
เขาเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[3]
ในปี พ.ศ. 2552 สื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งฉายาให้ ดร.เจริญ คันธวงศ์ เป็น "คนดีศรีสภาฯ" เนื่องจากได้ลงชื่อเข้าร่วมประชุมสภาถึง 88 ครั้งจากจำนวน 100 ครั้ง แม้ว่าจะต้องรักษาตัวจากอาการโรคมะเร็ง[4] และในปี พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 13 และได้รับเลือกตั้งอีกสมัย
นายเจริญ คันธวงศ์ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี พ.ศ. 2531ต่อมาปรับไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แทนนายปราโมทย์ สุขุม ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง
นอกจากนี้นายเจริญ ยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน คือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2505 โดยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีคนแรกด้วยวัยเพียง 29 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยกรุงเทพ และได้รับการยกย่องให้เป็น "อธิการบดีกิตติคุณก่อตั้ง" หรือ Emeritus (เอเมริตุส) อีกทั้งยังมีอาคารเพื่อเป็นการรำลึกถึงคือ อาคาร ดร.เจริญ คันธวงศ์ ที่วิทยาเขตกล้วยน้ำไทด้วย