"อรรถวิชช์" ย้ำบทเรียน ลาซาด้า เสนอร่าง กม.กำกับดิจิตัลแพลตฟอร์มข้ามชาติ

"อรรถวิชช์" ย้ำบทเรียน ลาซาด้า เสนอร่าง กม.กำกับดิจิตัลแพลตฟอร์มข้ามชาติ

"อรรถวิชช์" ย้ำบทเรียนกรณี Lazada เสนอรัฐบาลดันร่าง กม.กำกับดิจิตัลแพลตฟอร์มข้ามชาติ ใช้กฎหมายของ EU เป็นตัวอย่างได้

7 พ.ค.2565 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊ก กรณีโฆษณาไม่เหมาะสมของ Application ขายของออนไลน์ว่าถึงเวลากำกับบริษัทดิจิตัลแพลตฟอร์มข้ามชาติ รัฐบาลควรใช้แนวทางกฎหมาย DSA ของ EU

ประเด็นโฆษณาใน ​Lazada ที่บูลลี่ล้อเลียนบุคคลในเรื่องสุขภาพ และการทำร้ายจิตใจคนไทย พี่กรณ์​ได้แนะนำกฎหมายที่สหภาพยุโรป EU กำลังให้ความสำคัญ Digital Services Act (DSA) กฎหมายการให้บริการดิจิทัล ไว้น่าสนใจ

ผมขอขยายความต่อจากพี่กรณ์ สถานะปัจจุบันกฎหมาย DSA อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภายุโรป ถูกนำเสนอโดยคณะกรรมาธิการยุโรป European Commission คาดว่าเมื่อผ่านสภายุโรปแล้ว ประเทศในกลุ่มสหยุโรปจะต้องรับไปตรากฎหมาย หรือปรับกฎหมายของตนให้มีความสอดคล้อง ตั้งแต่ ม.ค.2567 เป็นต้นไป 

ยุโรปเองเผชิญปัญหากับแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาสู่ตลาด ทั้งจากอเมริกาและจีน เขาจึงต้องปกป้องสภาพสังคมและเศรษฐกิจของเขาเอง คล้ายกันกับไทยที่การค้าขายออนไลน์ อยู่บนแพลตฟอร์มยักษ์ต่างชาติ

กฎหมาย DSA คือ กำหนดมาตรการให้แพลตฟอร์มออนไลน์ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ โดยการควบคุมเนื้อหา การโฆษณา โดยเฉพาะที่มีเนื้อหาเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน และกระบวนวิธีการคิดคำนวณของระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Algorithm Process) 
สร้างกระบวนการดำเนินการทางกฎหมายที่รวดเร็ว ส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ลดการผูกขาดของธุรกิจรายใหญ่ ประกอบด้วย

 

(1) ผู้ให้บริการดิจิทัล ต้องมีระบบการตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ขายออนไลน์

(2) ผู้ให้บริการดิจิทัล ต้องมีเครื่องมือในการตรวจสอบและลบข้อมูลที่ไม่เหมาะสม/ข้อมูลที่มีการบิดเบือนความจริงออกทันที โดยผู้ให้บริการต้องให้เหตุผลในการลบข้อมูลนั้นออกแก่ผู้ใช้นั้นด้วย

(3) ผู้ให้บริการ ต้องอธิบายกระบวนวิธีการคิดคำนวณของระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Algorithms) ของแพลตฟอร์ม เพื่อแจ้งผู้ใช้ถึงที่มาที่ไปของผลการค้นหาออนไลน์

(4) ต้องจัดตั้งกลไกจัดการข้อพิพาทนอกศาลยุติธรรม (Out-of-court dispute settlement body) เพื่อรับรายงานเนื้อหาที่เข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายหรือข้อร้องเรียน 

(5) ประเทศสมาชิก EU สามารถออกคำสั่งให้ลบเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายออก ต่อแพลตฟอร์มใดก็ได้ที่มีการดำเนินธุรกิจในเขต EU ไม่ว่าจะปฏิบัติงานจากพื้นที่ใดของประเทศสมาชิกใดก็ตาม

(6) แพลตฟอร์มขนาดใหญ่จะต้องเข้ารับการตรวจสอบระบบเพื่อประเมินความเสี่ยง Audited risk assessment ทุกปี

(7) ประเทศสมาชิกต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานด้านการบริการดิจิทัล (Digital Services Coordinator) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบแพลตฟอร์มออนไลน์ และผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต

(8) จัดตั้งคณะกรรมการบริหารด้านบริการดิจิทัล European Board for Digital Services วินิจฉัยข้อพิพาท รายงาน ประเมินความเสี่ยงบนโลกออนไลน์

ร่างกฎระเบียบนี้ต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม (Level-Playing Field) โดยบริษัทขนาดเล็กจะได้รับโอกาสที่สูงกว่าในการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ และมีค่าใช้จ่ายดำเนินการตามกฎหมายที่น้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ 

ผมหวังว่ารัฐบาลจะรับแนวคิดนี้ มายกมาตรฐานแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง  และเหมาะสมกับโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจของไทยและนานาชาติ

พรรคกล้า อยากเห็นการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างโอกาสในการแข่งขันอย่างเสมอภาค ถ้าวันนี้มี ส.ส.ในสภา คงได้เดินหน้าเสนอกฎหมายกันแล้ว