ป.ป.ช.แพร่คดีตัวอย่าง “ที่ดินรัชดา” คุก 2 ปี “อดีตนายกฯ” ยอมให้ “เมีย” ประมูล
ป.ป.ช. เผยตัวอย่างทุจริต “คดีที่ดินรัชดา” ยกคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ลงโทษจำคุก 2 ปี “ทักษิณ” เซ็นยอมให้ “คุณหญิงพจมาน” เข้าประมูลซื้อที่ดิน เข้าข่ายขัดกันระหว่างผลประโยชน์ - มีกรณี “อดีตผู้ว่า สตง.” ทำโครงการเท็จ เบิกเงินหลวงไปงานกฐินพระราชทานด้วย
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ตัวอย่างคดีทุจริต กรณีการทำธุรกิจกับตัวเอง หรือเป็นคู่สัญญา โดยยก “คดีที่ดินรัชดา” ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2550 โดยข้อเท็จจริงตามคำพิพากษามีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยานายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 2
ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ว่า นาง พ. ภรรยาของ นาย ท. ประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านรัชดาภิเษก จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง โดยขณะนั้น นาย ท. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการของกองทุนฯ ลงลายมือชื่อยินยอมให้คู่สมรสคือ นาง พ. เข้าประมูลซื้อที่ดินและทำสัญญาซื้อขายที่ดิน พร้อมมอบหลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเภทข้าราชการการเมือง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อประกอบการทำสัญญา ส่งผลให้เป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาดังกล่าว
การที่ นาย ท. รู้เห็นยินยอมให้คู่สมรสเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับกองทุนฯ ย่อมถือว่าการเข้าทำสัญญาดังกล่าว เป็นการกระทำของ นาย ท. เอง ดังนั้นการกระทำของนาย ท. จึงเป็นการเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานที่ตนเองมีอำนาจกำกับดูแลอยู่ อันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม จึงมีความผิดตามมาตรา 100 (1) วรรค 3 ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันคดีที่ดินรัชดาดังกล่าว หมดอายุความแล้ว
นอกจากนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ยังเผยแพร่ตัวอย่างคดีทุจริต กรณี การใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่เครือญาติหรือพวกพ้อง โดยยกกรณีอดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่า สตง.) รายหนึ่ง จัดทำโครงการเท็จ เพื่อให้ข้าราชการของ สตง. ที่มีรายชื่อเข้าร่วมสัมมนาไปร่วมงานถวายผ้ากฐินพระราชทาน โดยสามารถเบิกค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งเบี้ยเลี้ยง เป็นเงินทั้งสิ้น 294,440 บาท เป็นเหตุให้ สตง. เสียหาย
โดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 7250/2561 ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 9 เดือน รอลงอาญา 2 ปี และปรับ 15,000 บาท โดยอัตราโทษดังกล่าวเป็นการลดโทษ 1 ใน 4 เนื่องจากมีคุณงามความดี และเป็นความผิดครั้งแรก ทั้งไม่ปรากฏว่าได้รับประโยชน์เป็นการส่วนตัว