ศึก“โพลล์”ในสมรภูมิผู้ว่าฯกทม. ศึกชิงแต้มโค้งสุดท้าย
"โค้งสุดท้ายผู้ว่าฯกทม.อยู่ที่ว่า ใครจะวางกลยุทธได้ดีกว่ากัน จะยังคงคะแนนสูงต่อเนื่องได้ไหม หรือตัดคะแนนกัน หรือคะแนนแตก ถ้ารวมกันอาจสูสี ยิ่งคนยังไม่ตัดสินใจใกล้ๆ วันลงคะแนนจะตัดสินใจ ด้วยการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวความคิดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เปลี่ยนใจ"
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 22 พ.ค.2565 มีสารพัดโพลล์ จากหลายสำนัก รวมถึงสื่อมวลชน ได้สำรวจความเห็น การตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯกทม.จนประชาชนไม่รู้จะเชื่อโพลไหนดี โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือ กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ ผลต่างคะแนนนิยมผู้สมัครรับเลือกตั้ง และลำดับ
ประเด็นเหล่านี้ จึงต้องหาคำตอบจากคนในแวดวงการทำโพล “ดร.ถวิลวดี บุรีกุล” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเคยผ่านงานทำโพลและวิจัยเชิงสำรวจในระดับนานาชาติมาหลายครั้ง
ดร.ถวิลวดี อธิบายว่า ความต่างของผลสำรวจโพลแต่ละสำนัก แม้จะสำรวจหัวข้อเดียวกัน ในพื้นที่เดียวกัน ก็คือ 1.วิธีการศึกษา (สำรวจ) 2.วิธีการเลือกตัวอย่าง และกลุ่มตัวอย่าง 3.การได้มาซึ่งตัวอย่าง
ผลสำรวจที่จะออกมาใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด คือ การสุ่มตัวอย่างจากความน่าจะเป็นตามหลักสถิติทุกขั้นตอน เรียกว่า Systematic sampling แต่เป็นวิธีการที่ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผลสำรวจออกมาแตกต่างกัน เนื่องจากผู้วิจัยต้องการความเชื่อมั่นไม่เท่ากัน และความเชื่อมั่นที่ต้องการ ก็จะนำมาสู่จำนวนกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งจะสัมพันธ์กัน และมีสูตรคำนวณ แต่ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง ไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่สุดที่ทำให้ผลสำรวจน่าเชื่อถือ แต่วิธีการเลือกตัวอย่าง และการได้มาซึ่งตัวอย่าง เป็นตัวแปรที่สำคัญกว่า เพราะขนาดของกลุ่มตัวอย่าง ใช้ไม่เยอะก็สามารถสำรวจออกมาได้ผลแม่นยำได้
อาจารย์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เหมือนการ “เขย่าติ้ว” (ติ้ว หมายถึงไม้ซีกเล็กๆ ใช้ในการเสี่ยงทาย เหมือนเซียมซี) คือ ติ้วทุกอันมีโอกาสได้รับเลือกเหมือนกัน ติ้วอันไหนตกลงมาก็เป็นอันนั้น ถ้าเทียบจากการเลือกตั้ง กทม. พื้นที่ กทม.มี 50 เขต ก็ต้องสุ่มเลือกมาก่อนว่าจะเอาเขตไหน อาจจะแยกเป็นชั้นใน ชั้นนอก หรือจะเอาทุกเขต
เขตไหนที่ถูกเลือก ต้องดูจำนวนประชากรด้วย แล้วกำหนดวิธีการเลือกตัวอย่างในเขตนั้น ว่าจะสุ่มอย่างไร ใครจะถูกเลือก วิธีการที่แม่นยำมากๆ เช่น ดูจากจำนวนครัวเรือน คนในครัวเรือนมีกี่คน สุ่มครัวเรือนได้แล้ว จะเลือกสมาชิกคนที่เท่าไหร่ในครัวเรือนนั้น เลือกชายหรือหญิง ต้องสลับกันไปแบบนี้ สุ่มอย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน ถ้าทำได้จะยิ่งได้ผลแม่นยำ
สำหรับการทำโพลที่เห็นกันในปัจจุบัน และประชาชนสับสนในผลสำรวจที่แตกต่างกัน อาจเกิดจากวิธีการที่เรียกว่า “สุ่มสะดวก” เพื่อความประหยัด และได้ผลเร็ว แต่ผลที่ได้จะแม่นยำน้อยลง ถือเป็นการสำรวจเบื้องต้น เช่น ใช้ “กูเกิ้ล ฟอร์ม” ง่าย เร็ว แต่อาจไม่ตรงความจริง อยู่ที่ว่าเราส่งแบบสอบถามไปให้ใคร กลุ่มใด แม้จะพยายามกระจาย แต่ตัวอย่างไม่ได้เป็นตัวแทนของประชากรทุกกลุ่ม
คล้ายๆ โพลตามทีวี ก็จะได้ผลสำรวจกลุ่มที่ชื่นชอบทีวีช่องนั้น ซึ่งมีแนวโน้มรสนิยมการเมืองแบบหนึ่ง ก็จะเป็นโพลที่สำรวจจากคนกลุ่มนี้เท่านั้น ในทางสถิติเรียกว่า “กลุ่มเบ้” หรือ Bias ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องบอกประชาชนเวลานำมาเผยแพร่ว่า เป็นการสำรวจจากใคร และเป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น
อีกเรื่องที่มีการพูดกัน คือ สำนักโพลบางแห่งมีรายชื่อประชากรอยู่จำนวนหนึ่ง สมมติ 30,000 รายชื่อ เวลาจะสำรวจอะไรที ก็สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ เช่น เลือกสุ่ม 1,000 ตัวอย่าง จาก 30,000 รายชื่อนี้ อ.ถวิลวดี บอกว่า วิธีการแบบนี้มีจริง เรียกว่า “ถังรายชื่อ” จะสำรวจอะไรก็สุ่มโทรไปถามคนที่มีชื่อในถังนี้
ความแม่นยำของการสำรวจวิธีนี้ ขึ้นกับ 1.รายชื่อเหล่านี้ได้มาอย่างไร ได้มาตามหลักสถิติความน่าจะเป็นหรือไม่ 2.รายชื่อที่ได้มา เป็นตัวแทนของประชากรทุกกลุ่มในพื้นที่ที่ต้องการสำรวจหรือไม่ 3.มีการอัพเดทข้อมูลในถังบ้างหรือไม่ เช่น มีคนย้ายออกนอกพื้นที่ มีคนเปลี่ยนวัย เปลี่ยนช่วงอายุ ได้อัพเดทหรือเปล่า จริงๆ วิธีการนี้ไม่ได้ผิด แต่ต้องอัพเดทบ่อยๆ และเปลี่ยนกลุ่มตัวอย่างบ้าง
ดร.ถวิลวดี ยังถอดประสบการณ์การทำโพลกับคน กทม.ว่า มีความสวิงสูง คือ เปลี่ยนแปลงบ่อย เพราะได้รับข้อมูลเยอะ จึงมีโอกาสเปลี่ยนใจตลอดเวลา
การเลือกตั้งมีการกลั่นแกล้งกันเยอะ เมื่อเสพข่าวลือบ้าง จริงบ้าง ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจ มีการทำ Political marketing เยอะมาก ทุกแพลตฟอร์ม ทำให้โอกาสการเปลี่ยนใจของ Voters มีสูง
ลักษณะของคนกรุงเทพฯ มีความ “อิงกระแส - ตามกระแส” จึงเปลี่ยนแปลงง่าย โดยเฉพาะใกล้ๆ วันหย่อนบัตร มีความเป็น Radical (หัวรุนแรง) ต่อต้านคนที่พฤติกรรมไม่ดี ฉะนั้นข้อมูลบางอย่างถ้าถูกเปิดในช่วงโค้งสุดท้าย แล้วตรงใจคนกรุงเทพฯพอดี หรือเป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯต่อต้านพอดี จะทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
โพลคน กทม. ทำค่อนข้างยาก เพราะคนไม่ค่อยตอบตามความเป็นจริง บางทีก็เอาใจคนที่มาสำรวจ เช่น โพลของหัวคะแนนหรือพรรคการเมืองทำกันเอง มีความเสี่ยงสูง
การสำรวจให้แม่นยำที่สุด ต้องสำรวจช่วงใกล้วันลงคะแนนมากที่สุด เพราะคนกรุงเทพฯจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจช้า ขอรับข้อมูลไปเรื่อยๆ ก่อน แล้วค่อยตัดสินใจทีเดียวโค้งสุดท้าย
เมื่อโพลที่สำรวจแบบเบื้องต้น หรือสำรวจอย่างง่าย มีความคลาดเคลื่อนสูง เหตุใดจึงยังมีการทำโพลกันเยอะมาก อ.ถวิลวดี บอกว่า
ทำเพื่อความหวือหวา เรียกความสนใจ ทำให้คนรู้จักโพลนั้น ชี้นำการเลือกตั้ง มีทั้งชี้นำผู้ชนะ และชี้นำผู้แพ้ การชี้นำผู้แพ้ ก็เช่น เลือกเบอร์นี้ไปก็เท่านั้น เลือกยังไงก็ไม่ชนะ ถือเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ทั้งนี้ สถาบันพระปกเกล้าเอง ก็ได้สำรวจ "ความคิดเห็นและพฤติกรรมของประชาชนต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และส.ก." เพื่อดูกรอบความคิด การรับรู้ว่าประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน ความตระหนักในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ความคาดหวังตัวผู้สมัครและผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.ในอนาคตเป็นอย่างไร ความต้องการอยากให้ผู้แทนทำงานในเรื่องใด และเกณฑ์การลงคะแนนตัดสินอย่างไร เป็นต้น
ดร.ถวิลวดี ระบุถึงกลุ่มยังไม่ตัดสินใจที่ยังค่อนข้างมากว่า เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ ในการเลือกตั้งมาพอสมควร มีความรู้ รู้ว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ มีการพูดคุยติดตามข่าวสารเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มที่มีความคิดการเมืองประเภทเดียวกัน จะมีในใจแล้ว แต่ยังดูลาดเลา ยังไม่ฟันธง คนที่รักอาจมีหลายคน และไว้ใจผู้ว่าฯ ที่เคยทำงานมาแล้ว และมีทีมตัวเอง ไม่ได้มาคนเดียว
ประเภทกลุ่มความคิดทางการเมืองประเภทเดียวกัน ยังไม่ตัดสินใจ กลุ่มนี้มีโอกาสเทคะแนน เพราะถ้าคิดแบบมีกลยุทธ เพื่อไม่ให้คะแนนแตก ถ้าเล่นโหวตเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ กลุ่มนี้ทำได้ ซึ่งกลุ่มนี้จะเน้นการทำงาน ผู้ว่าฯ เชิงคุณภาพ นโยบายคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม อาจจะดูทิศทางการเมืองใหญ่ด้วย เพราะจะมีผลต่อชีวิตการทำงานของพวกเขา กลุ่มนี้อาจทำให้สวิงได้
สำหรับกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก จะไม่ทำให้สวิง เพราะค่อนข้างมีในใจแล้ว คงไม่เปลี่ยนไปอีกด้านได้ แต่อีกด้านที่ว่า จะรวมถึงกลุ่มยังไม่ตัดสินใจด้วย
ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ระบุด้วยว่า สำหรับโค้งสุดท้ายนี้ ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะวางกลยุทธในตอนท้ายได้ดีกว่ากัน จะยังคงคะแนนสูงต่อเนื่องได้ไหม หรือตัดคะแนนกัน หรือถ้าคะแนนแตก ถ้ารวมกันอาจสูสี หรือไปอีกทางได้ ยิ่งคนยังไม่ตัดสินใจ ใกล้ๆ วันลงคะแนน ต้องติดตามดูการรณรงค์เลือกตั้งเชิงกลยุทธ ด้วยการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวความคิดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เปลี่ยนใจ