สนาม“ส.ก.”แข่งเดือด-สูสี รุ่นเก๋าหาย รุ่นใหม่ลุ้นเบียด

สนาม“ส.ก.”แข่งเดือด-สูสี  รุ่นเก๋าหาย รุ่นใหม่ลุ้นเบียด

โค้งสุดท้ายหาเสียงเลือก ส.ก. ดุเดือดไม่แพ้สนามผู้ว่าฯกทม. เนื่องจาก ส.ก. จะเป็นฐานเสียงในอนาคตให้กับ “ผู้สมัคร ส.ส.” หาก ผู้สมัคร ส.ส. คนใดมี ส.ก.เป็นแบ็คอัพให้ โอกาสที่จะคว้าชัยการเมืองสนามใหญ่มีสูงกว่าคู่แข่ง

สนามชิงเก้าอี้ “ผู้ว่าฯกทม.” ที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดแล้ว สนามชิงเก้าอี้สมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) ก็ไม่แพ้กัน “ผู้สมัคร” ของแต่ละพรรคการเมือง-กลุ่มการเมือง ไม่ยอมยกธงขาวกันง่ายๆ เพราะเดิมพันเก้าอี้ ส.ก. เสมือนเดิมพันเก้าอี้ ส.ส. ไปในตัว

เนื่องจาก ส.ก. จะเป็นฐานเสียงในอนาคตให้กับ “ผู้สมัคร ส.ส.” หาก ผู้สมัคร ส.ส. คนใดมี ส.ก.เป็นแบ็คอัพให้ โอกาสที่จะคว้าชัยการเมืองสนามใหญ่มีสูงกว่าคู่แข่ง

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมความเคลื่อนไหวของ “ผู้สมัคร ส.ก.” ของแต่ละพรรคการเมือง-กลุ่มการเมือง ในช่วงโค้งสุดท้ายมานำเสนอ โดยต่างคาดหวัง โกยที่นั่งให้ได้มากที่สุด

พรรคพลังประชารัฐ ในช่วงโค้งสุดท้ายคะแนนเริ่มกระเตื้องขึ้นมาบ้าง ต่างจากตอนเปิดตัวที่ดูไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าที่ควร โดยในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีส.ส.ของพรรค เป็นเจ้าของพื้นที่ คู่แข่งซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งในฝ่ายค้าน ก็ประเมินสอดคล้องกันว่าประมาทไม่ได้

แม้พลังประชารัฐ จะเผชิญปัญหาความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง ไร้ความเป็นเอกภาพ แต่ภาพจำของโหวตเตอร์กลุ่มที่สูงอายุ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงอย่างไรก็ยังเลือกพลังประชารัฐ ไม่น้อย

มีการประเมินจำนวน ส.ก. ที่พลังประชารัฐ จะคว้ามาได้ประมาณ 10 ที่นั่ง อาทิ เช่น นางนิรมล โตจิรกุล เขตบางรัก นายอภิชาติ ซำศิริพงษ์ เขตปทุมวัน นายมนตรี เปรมบุญ เขตสาธร นายณรงค์ รัสมี เขตหนองจอก นายวิรัช อินช่วย เขตคลองสามวา เป็นต้น

สนาม“ส.ก.”แข่งเดือด-สูสี  รุ่นเก๋าหาย รุ่นใหม่ลุ้นเบียด

“รักษ์กรุงเทพ” ตัวเต็ง จอมเก๋า

ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ที่สนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็ถือว่าได้ลุ้นในหลายเขตที่มีตัวผู้สมัครจอมเก๋า ใกล้ชิดผูกพันกับพื้นที่มายาวนาน อาทิ นายสุชัย พงษ์เพียรชอบ หรือ ต่ายคลองเตย ผู้สมัครส.ก.เขต คลองเตย นายคำรณ บำรุงรักษ์ หรือ อ้วน บางนา ผู้สมัครส.ก.เขตบางนา ที่ถือเป็นตัวความหวัง โอกาสเข้าป้ายค่อนข้างสูง

นอกจากนั้น ยังมี นายพงษ์ไพศาล มะลูลีม ผู้สมัคร ส.ก. เขตสวนหลวง น.ส.พชญา ปรีฎาพาก ผู้สมัครส.ก.เขตพระโขนง นายอภิชาติ จรัสโภคา ผู้สมัครส.ก.เขตประเวศ ก็นับว่ามีลุ้นเช่นเดียวกัน โดยกลุ่ม “รักษ์กรุงเทพ” ประเมินว่า อาจทำผลงานคว้ามาได้เกือบ 10 ที่นั่ง

จุดแข็งของกลุ่มรักษ์กรุงเทพ คือมีเครือข่ายในระดับพื้นที่ค่อยข้างกว้างขวาง ได้การสนับสนุนจากอำนาจรัฐในกทม. ทำให้มีคะแนนจัดตั้งในระดับที่มีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครส.ก.ในนามรักษ์กรุงเทพ บางเขต นอกเหนือจากที่ระบุมา ซึ่งเคยมีสถานะเป็นตัวเต็ง ตอนนี้สถานการณ์พลิกผัน เมื่อแบ็คอัพในปีกที่เกี่ยวพันกับพรรคพลังประชารัฐ จากที่เคยสนับสนุนก็ถอนตัวในที่สุด คะแนนในส่วนนั้นจึงหายตามไปด้วย

เนื่องจากผู้สมัครฯ คนดังกล่าวเลือกเหยียบเรือสองแคม ทางหนึ่งไปบอกชาวบ้านให้เลือกพล.ต.อ.อัศวิน แต่อีกทางก็บอกเครือข่ายของพลังประชารัฐ ซึ่งสนับสนุน สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ว่ายังสนับสนุนทางนี้

กระทั่งแกนนำในพื้นที่ของพลังประชารัฐ ทราบพฤติกรรมผู้สมัครฯ คนนั้น ก็ตัดสินใจยุติการสนับสนุนทันที จากที่เคยเป็นตัวเต็ง ตอนนี้คู่แข่งจากเพื่อไทยทำคะแนนแซงขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อย

ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ไม่เป็นเอกภาพ ไม่ตัดสินใจ วางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น ปล่อยให้ต่างคนต่างทำ จึงเกิดกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น

นอกจากนั้น มีความเคลื่อนไหวของ ส.ส.พลังประชารัฐ รายหนึ่งที่มีโอกาสพบกับพล.อ.ประยุทธ์ จึงถูกนายกฯ ถามในจังหวะที่กำลังเข้าช่วงโค้งสุดท้ายว่า “อัศวิน ตัดคะแนน จั้ม (สกลธี) ใช่ไหม” 

ตรงนี้ก็สะท้อนชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ เพื่งรู้สึกตัว ว่าการที่ตัวเองไม่ตัดสินใจตั้งแต่ต้น อาจกำลังส่งผลสะเทือนต่อฐานอำนาจตัวเอง และอาจจะมีผลกับสนามเลือกตั้งใหญ่ เพราะเห็นแล้วว่า นาทีนี้ พล.ต.อ.อัศวิน เข็นลำบาก กระแสต่างๆ ก็ไม่เป็นใจ

ขณะที่ล่าสุด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องในพรรคช่วย พล.ต.อ.อัศวิน เต็มที่ แต่บรรดาลูกพรรคส่วนใหญ่กลับอึดอัดใจ ทำตัวไม่ถูก เนื่องจากพลังประชารัฐ ส่งผู้สมัคร ส.ก. ที่ต้องขับเคี่ยวกับกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ที่เป็นนั่งร้านให้ พล.ต.อ.อัศวิน

นั่นเท่ากับว่า พล.อ.ประวิตร กำลังสั่งลูกพรรคให้ช่วยคู่ต่อสู้โดยปริยาย ความลักลั่นเช่นนี้ ทำให้เห็นว่า ลำพัง พี่น้อง 3 ป. ในมิติการทำการเมือง หรือการวางแผนเลือกตั้ง ยังมีอะไรขาดๆ เกินๆ อยู่มาก

ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะขาดมือวางยุทธศาสตร์และมือทำงาน ถ้าผู้มีอำนาจวันนี้เป็นปึกแผ่น คงไม่เห็นภาพผู้สมัครอย่าง พล.ต.อ.อัศวิน และ สกลธี ต้องมาตัดคะแนนกันเอง จนอาจพากันไปไม่ถึงฝั่งฝันทั้งคู่

สนาม“ส.ก.”แข่งเดือด-สูสี  รุ่นเก๋าหาย รุ่นใหม่ลุ้นเบียด

ปชป.วิกฤติฉาว ทำแต้มหาย

ศึกเลือกตั้งส.ก.รอบนี้ ประชาธิปัตย์ ส่งผู้สมัครที่เป็น ส.ก.หน้าเก่าถึง 37 คน และหน้าใหม่ 13 คน โดยเป้าหมายของ “ค่ายสีฟ้า” รอบนี้วางเป้าไว้สูง “เกินครึ่ง” จากจำนวนส.ก.ทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 25 คนจากทั้งหมด 50 คน

ทว่าด้วย “บริบทการเมือง” ที่เปลี่ยนไป สนามเลือกตั้งส.ก.ที่ร้างลามากว่า 9ปี ทำให้ฐานเสียงเมืองหลวงอันเป็นขุมกำลังสำคัญของปชป.ถูกเฉลี่ยให้กับพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ฝ่ายการเมืองฝ่ายขวาด้วยกัน ตอกย้ำชัดจากการ เลือกตั้งใหญ่ เมื่อปี2562 ไม่ต่างจากศึกเลือกตั้งเมืองหลวงรอบนี้ ซึ่งการเมืองขั้วขวา มีการชิงแต้มกันเองถึง 2 พรรค 2 กลุ่มการเมือง

ยังไม่นับรวม “วิกฤติฉาว” ที่ค่ายสีฟ้าเผชิญก่อนหน้านี้ซึ่งกลายเป็นเอฟเฟกต์ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงและทำให้บรรดาผู้สมัครต้องปรับเกมแบบเร่งด่วน บางรายที่แม้จะสวมเสื้อประชาธิปัตย์ แต่เลือกที่จะทิ้งแบรนด์พรรคหันมาชูจุดขายเป็นผลงานตัวบุคคลหวังผลไปถึงคะแนนสงสาร บวกฐานแฟนคลับเดิมซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นกลางขึ้นไปที่ยังเหนียวแน่นจะยังให้โอกาสและสนับสนุนอีกครั้งในศึกรอบนี้

สนาม“ส.ก.”แข่งเดือด-สูสี  รุ่นเก๋าหาย รุ่นใหม่ลุ้นเบียด

“เพื่อไทย”แต้มหาย-โพลชี้ส.ก.ลด

พรรคเพื่อไทย ต้องยอมรับว่าคะแนนนิยมในตัว ผู้สมัคร ส.ก. ของพรรคเพื่อไทย วูบลงอย่างน่าตกใจ เพราะได้รับผลกระทบจากการที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. ลงในนามอิสระ และพยายามปลีกตัวออกจากพรรคเพื่อไทย เพื่อเก็บแต้มจาก “บ้านมีรั้ว” ทำให้กระแสของผู้สมัคร ส.ก. เพื่อไทย ไม่ป็อบปูลาร์เท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยวางเป้าไว้ว่าจะต้องได้เก้าอี้ ส.ก. 15-20 เขต แต่กระแสที่ตกลงไปทำให้โพลล์บ่งชี้ว่า ผู้สมัคร ส.ก. เพื่อไทย มีโอกาสคว้าชัยเพียง 10-15 เขตเท่านั้น ที่สำคัญโดนผู้สมัคร ส.ก. พรรคก้าวไกล เก็บแต้ม ตีตื้นในหลายพื้นที่

จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ “ทีมยุทธศาสตร์” พรรคเพื่อไทย ต้องแก้เกม ด้วยการเสี่ยงเอา “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ลงช่วยผู้สมัคร ส.ก. เพื่อไทย หาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย โดยเน้นพื้นที่ที่โดน ผู้สมัคร ส.ก. พรรคก้าวไกล ทำคะแนนตีตื้นขึ้นมา

แม้รู้ว่าชื่อของ “อุ๊งอิ๊ง” ที่พ่วงด้วยนามสกุล “ชินวัตร” ภาพลักษณ์จะกระทบต่อ “ชัชชาติ” แต่มีผลโพลล์ออกมาว่า “คนกทม.-บ้านมีรั้ว” ตัดสินใจเลือก “ชัชชาติ” ไปแล้ว แม้ “อุ๊งอิ๊ง” จะลงพื้นที่ก็จะไม่กระทบต่อคะแนนของ “ชัชชาติ” ทัพเพื่อไทยจึงตัดสินใจเดินหน้า

ผู้สมัคร ส.ก. พรรคเพื่อไทย ที่มีโอกาสคว้าเก้าอี้ ส.ก. ประกอบด้วย ชญาดา วิภัติภูมิประเทศ ผู้สมัคร ส.ก.เขตคันนายาว เนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ผู้สมัคร ส.ก.เขตบึงกุ่ม มธุรส เบนท์ ผู้สมัคร ส.ก.เขตสะพานสูง เป็นต้น

สนาม“ส.ก.”แข่งเดือด-สูสี  รุ่นเก๋าหาย รุ่นใหม่ลุ้นเบียด

“ก้าวไกล”กระแสแรงลุ้นโกยส.ก.

พรรคก้าวไกล ตามผลโพลลับ “ครั้งสุดท้าย” ที่หยั่งกระแสคน กทม. พบว่า “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรค มีความนิยมเบียดกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธ์” ผู้สมัครอิสระ ชนิด “หายใจรดต้นคอ” ดังนั้นหลังจากนี้พรรคก้าวไกล เตรียมลงพื้นที่โค้งสุดท้ายอย่างหนัก เพื่อหวังคว้าชัยชนะศึกเมืองหลวงในรอบ 9 ปีให้ได้

ส่วนคะแนนความนิยมของผู้สมัคร ส.ก.พรรคก้าวไกล ตาม “ผลโพลของพรรค” พบว่ายังมีคะแนนนำอยู่ราว 20 เขต และมีโอกาสที่จะช่วงชิงได้อีก 14 เขต เว้นแต่เขตที่ “แข็งโป๊ก” จริง ๆ เช่น “คลองเตย” ฐานเสียงของ “รักษ์กรุงเทพ”

เชื่อว่าการส่ง “วิโรจน์” ลงสมัครจะขยายฐานคะแนนเสียงเดิมของพรรคออกไปได้ และคาดว่าจะได้คะแนน “ป็อปปูลาร์โหวต” เท่าหรือมากกว่าการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 ที่ขณะนั้นพรรคอนาคตใหม่ได้ไปราว 8 แสนเสียง

โดยเฉพาะการรุกพื้นที่ “สีแดง” ใน กทม. ส่งผลให้ “พรรคเพื่อไทย” ระส่ำระสายอย่างหนักถึงกับต้องส่ง “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” อย่าง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร มาลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เพื่อเรียกคะแนนความนิยมกลับคืนมา ทำให้ “ก้าวไกล” ต้องรีบแก้เกมทันควัน

แว่วมาว่าในการปราศรัยใหญ่วันที่ 14 พ.ค. 2565 พรรคก้าวไกลจะเชิญ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า “พรรณิการ์ วานิช” โฆษกคณะก้าวหน้า มาร่วมเวทีกับ “วิโรจน์” ด้วย เพื่อแก้เกม “เพื่อไทย” ที่ส่ง “อุ๊งอิ๊ง” มาลงพื้นที่

ปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้ง “พ่อเมืองกรุงฯ” ครั้งนี้ในมุม “ก้าวไกล” คือ ผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. เป็นคนละวัน ทำให้มีคนมาเลือก ส.ก.น้อย แต่คราวนี้จัดวันเดียวกัน จะส่งผลเชิงบวกอย่างมากกับ “ก้าวไกล” เพราะหากคนมาเลือก ส.ก.เยอะ ทำให้ผู้สมัครของพรรคมีโอกาสเยอะที่จะชนะ

สนาม“ส.ก.”แข่งเดือด-สูสี  รุ่นเก๋าหาย รุ่นใหม่ลุ้นเบียด

“ไทยสร้างไทย"ลุ้น 5 ส.ก.

ขณะที่พรรคไทยสร้างไทย ที่ถือว่าลงสนามประเดิมยี่ห้อพรรคใหม่ครั้งแรกในสนามเมืองหลวงครั้งนี้ ก็คาดหวังเก้าอี้ส.ก. เช่นเดียวกัน โดยความเป็นไปได้ของพรรคไทยสร้างไทย มีโอกาสคว้ามาได้ 4-5 ที่นั่ง อาทิ ในเขตดอนเมือง อย่างนายพนา วุฒิเดช น.ส.รัตติกาล แก้วเกิดมี เขตสายไหม นายไสว โชติกะสุภา เขตราษฎร์บูรณะ และยังได้ลุ้นนายประเสริฐ ทองนุ่น ที่เขตบางกะปิ อีกด้วย

แต่ก็น่าเสียดาย เมื่อ น.ส.พรพิมล คงอุดม ผู้สมัครส.ก.เขตบางซื่อ ลูกสาวนายชัชวาลย์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไทย เสียชีวิตช่วงหาเสียง ซึ่งน.ส.พรพิมล ถือเป็นตัวเต็งให้เขตดังกล่าว

ทั้งนี้ เป้าหมายของพรรคไทยสร้างไทย ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า จะอาศัยการเลือกตั้งในกทม. เป็นสปริงบอร์ดไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ ดังที่จะเห็นกันทั่วกรุง ว่าป้ายหาเสียงผู้สมัครของพรรค ต้องมีรูปคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ ประธานพรรค ร่วมเฟรมด้วยทั้งหมด เพื่อตอกย้ำและสร้างภาพจำให้กับคนกรุงนั่นเอง

สนาม“ส.ก.”แข่งเดือด-สูสี  รุ่นเก๋าหาย รุ่นใหม่ลุ้นเบียด