เจาะงบ “ระบายน้ำ” กทม. 5 ปีหลังควัก 1.4 หมื่นล้าน ยังแก้ปัญหา “น้ำท่วม” ไม่ได้
เจาะงบประมาณ 5 ปีหลังสุด “กทม.” ควักกว่า 1.4 หมื่นล้าน 1,333 โครงการ พัฒนา-ปรับปรุง-ก่อสร้าง “ระบบระบายน้ำ” แต่ยังแก้ปัญหา “ฝนตกน้ำท่วม” ไม่ได้
“ฝนที่ตกหนักตั้งแต่เมื่อวานนี้ (17 พ.ค. 2565) ปกคลุมทั่วกรุงเทพฯ และตกเป็นเวลานานเกือบ 10 ชั่วโมง ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในบางจุดที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่คาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้หลายๆ โครงการจะแล้วเสร็จ และจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมขังให้กับคนกรุงเทพฯ ได้อย่างแน่นอน”
คือคำยืนยันของนายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผอ.สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในช่วงเช้าวันที่ 18 พ.ค. 2565 หลังจาก กทม.หลายพื้นที่ “จมบาดาล” เนื่องจากพายุถล่ม ฝนตกหนักราว 10 ชั่วโมง โดยเฉพาะบริเวณ “กรุงเทพฯโซนเหนือ” เช่น จตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง ลาดพร้าว และบางพื้นที่ของบางซื่อ ปริมาณฝนวัดได้สูงสุดกว่า 100 มิลลิเมตร ทำให้มี “น้ำท่วมขัง” หลายจุด
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเหตุการณ์ “น้ำท่วม” เกิดขึ้นหลายครั้ง หลังฝนตกกระหน่ำใน กทม. และ “ผู้มีอำนาจ” หลายคนพยายามจัดสรรทุ่มเม็ดเงินลงไปเพื่อปรับปรุง พัฒนา ก่อสร้าง “ระบบระบายน้ำ” ใน กทม. หลายครั้งด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหานี้
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า เอาแค่อย่างน้อย 5 ปีหลังสุด (ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2565) กทม.ทุ่มงบประมาณในการแก้ปัญหาเหล่านี้ไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า 1,333 โครงการ (เท่าที่ตรวจสอบพบ) รวมวงเงินอย่างน้อย 14,349.39 ล้านบาท
ล่าสุด เฉพาะงบประมาณปี 2565 (ข้อมูลถึงวันที่ 18 พ.ค. 2565) กทม.ว่าจ้างเอกชนดำเนินโครงการใหญ่ไปแล้วอย่างน้อย 2 โครงการ ที่ใช้วงเงินงบประมาณเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป เช่น
โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาระบบระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ วงเงิน 1,698.79 ล้านบาท ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 มีกิจการร่วมค้า เอสจี-พีซีอี เป็นผู้ชนะการประกวดราคา
โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำในแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน (โครงสร้างใต้ดิน) ช่วงจากถนนพระรามที่ 6 ถึงซอยระนอง 1 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ดำเนินการโดยกองระบบท่อระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ วงเงิน 159.90 ล้านบาท ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2564 มีบริษัท มานีโสภณ จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา เป็นต้น
ส่วน งบประมาณปีอื่น ๆ มีดังนี้
- ปีงบประมาณ 2560 ว่าจ้างเอกชน 128 โครงการ รวมวงเงิน 192.67 ล้านบาท
โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราชและถนนเจริญกรุง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกองระบบท่อระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ วงเงิน 101.55 ล้านบาท ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2560 มีบริษัท เรืองฤทัย จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา
- ปีงบประมาณ 2561 ว่าจ้างเอกชน 242 โครงการ รวมวงเงิน 2,024.80 ล้านบาท
โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างโครงการปรับปรุงอาคารสำนักการโยธาและสำนักการระบายน้ำ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร วงเงิน 568.20 ล้านบาท ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2560 มีบริษัท สยามกรกิจ จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา
- ปีงบประมาณ 2562 ว่าจ้างเอกชน 321 โครงการ รวมวงเงิน 594.63 ล้านบาท
โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำคลองหลุมไผ่ ตอนคลองลาดพร้าว ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยสำนักงานพัฒนาระบบระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ วงเงิน 92.29 ล้านบาท ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2562 มีบริษัท เดชากร เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา
- ปีงบประมาณ 2563 ว่าจ้างเอกชน 332 โครงการ รวมวงเงิน 480.52 ล้านบาท
โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนจันทน์ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยกองระบบท่อระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ วงเงิน 166.82 ล้านบาท ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2563 มีบริษัท รวมนที จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา
- ปีงบประมาณ 2564 ว่าจ้างเอกชน 308 โครงการ รวมวงเงิน 9,198.08 ล้านบาท
โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยสำนักงานพัฒนาระบบระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ วงเงิน 8,233.30 ล้านบาท ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เอ็นดับเบิลยูอาร์ เป็นผู้ชนะการประกวดราคา