"ประวิตร" ย้ำ "ไทย" ให้ความสำคัญ 4 แนวทาง แก้ปัญหา ประมงผิดกฎหมาย
ผอ.มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) พบ “ประวิตร” ชมไทย คืบหน้ามากด้านความโปร่งใส-บริหารจัดการประมง หวังไทยร่วมผลักดันอาเซียนแก้ปัญหา IUU
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การต้อนรับ นายสตีฟ เทรนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม(EJF) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เกี่ยวกับการปฏิรูปด้านแรงงานด้านการประมงในอุตสาหกรรมการประมง รวมทั้งการแสวงหากลไกเพิ่มเติมที่จะช่วยสร้างการพัฒนาอุตสากรรมการเมืองไทยที่ยั่งยืน
นายสตีฟ กล่าวชื่นชมความมุ่งมั่นและความพยายามในบทบาทของไทย ภายใต้การนำของ พลเอก ประวิตร ถึงพัฒนาการการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย IUU ที่ผ่านมา มีความโปร่งใสและชัดเจนมากขึ้น โดยมีความเชื่อมั่นไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาประมงที่ยั่งยืนและจะส่งผลภายใน 10-15 ปีข้างหน้า พร้อมย้ำไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้อาเซียนให้ปลอดจากการทำประมงผิดกฎหมาย ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปี 62 ขณะที่ปี65 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ซึ่งเป็นโอกาสดีในการส่งเสริมความสำคัญของกลไกต่างๆในภาคประมงที่โปร่งใส มุ่งเน้นการกำจัดการทำประมงผิดกฎหมาย IUU ของภูมิภาคผ่านการแลกเปลี่ยนความร่วมมือและข้อมูลโดยนำหลักการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลทั่วโลก พร้อมกับเป็นโอกาสที่ไทยจะได้ประชาสัมพันธ์ความสำเร็จของไทยให้กับนานาประเทศได้รับทราบ
ทั้งยังได้เสนอให้มีการคัดกรองตรวจสอบเรือขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไปและการบูรณาการความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม พร้อมทั้งชื่นชมการแก้ปัญหาทะเลปลอดขยะอวน ( Net Free Sea )โดยพร้อมสนับสนุนและทำงานร่วมกับไทยอย่างใกล้ชิด
โดยพลเอก ประวิตร ขอบคุณ EJF ที่ทำงานร่วมกับไทยอย่างใกล้ชิด โดยไทยยังให้ความสำคัญกับมาตรการ 4 แนวทาง ทั้งการดำเนินการตามนโยบาย ไอยูยู - ฟรีไทยแลนด์ การสร้างความเข้มแข็งในความร่วมมือการติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนามาตรฐานการควบคุมนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ รวมทั้งการปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับ
ขณะที่ยังให้ความร่วมมือกับ EJF อย่างต่อเนื่องในการร่วมตรวจสอบเรือประมงรวมทั้งการขึ้นท่าสัตว์น้ำ นอกจากนั้นไทย ยังร่วมมือกับอาเซียนในการต่อต้านการทำประมง IUU ผ่านศูนย์เครือข่ายอาเซียน โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ และในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ปี 65 ไทยจะผลักดันประเด็นประมงพื้นบ้าน ในด้านการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์การควบคุมและการตรวจสอบย้อนกลับร่วมกัน ทั้งนี้ไทยยังคงมุ่งมั่นแก้ปัญหาประมง IUU ให้สอดคล้องกับหลักการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลทั่วโลกต่อไป
ขณะที่ นายสุชาติ ย้ำถึงพัฒนาการด้านสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงาน และการให้ความสำคัญกับการคัดแยกแรงงานที่เสียหายจากการค้ามนุษย์ ส่วน นายวราวุธ ได้ชื่นชมการแก้ปัญหาประมงของไทยที่ผ่านมา ส่งผลให้ทรัพยากรและสัตว์ทะเลมากขึ้นอย่างผิดหูผิดตา โดยย้ำไทยพร้อมให้ความร่วมมือแก้ปัญหาอวนทะเลหลุดลอย ซึ่งเป็นขยะที่เป็นปัญหาต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ทะเลต่อไป