“ปิยบุตร” ชู 4 เหตุเลือก “วิโรจน์” ผู้ว่าฯ กทม. เลิกได้แล้วโหวตเชิงยุทธศาสตร์
“ปิยบุตร” ชูเหตุผล 4 ข้อควรเลือก “วิโรจน์” เป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” เข้าไปสร้าง “เมืองเท่ากัน” เลือก ส.ก.ก้าวไกล ยกทีม เพื่อผ่านงบในสภา กทม. ลั่นโปร่งใส-ตรวจสอบได้ ซัดพวกโหวตเชิงยุทธศาสตร์ควรเลิกได้แล้ว ไม่ต้องกังวล มคปด. เลือกเบอร์ 1 ให้ถล่มทลาย
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 ที่มิวเซียมสยาม พรรคก้าวไกลจัดปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายแก่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วยผู้สมัคร ส.ก.รวม 50 ราย โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ขึ้นปราศรัย
นายปิยบุตร กล่าวว่า ในการเลือกตั้งวันที่ 22 พ.ค.ที่จะถึงนี้ เราจะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญ คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และเลือกตั้ง ส.ก. เราไม่ได้เลือกตั้งกันมาเกือบ 10 ปีแล้ว เราไม่ได้เลือกตั้งกันมาเพราะว่ามีรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 มาคั่นเอาไว้ และตั้งคนของเขามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. และคนนี้จะลงสมัครอีกรอบหนึ่งอีก เราไม่ได้เลือก ส.ก.มายาวนาน ที่เป็นกันอยู่คือเลือกคนเข้าไปเป็นกันเอง ดังนั้นการเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. จึงเป็นการเลือกตั้งสำคัญ สังเกตได้จากมีผู้สมัครน่าสนใจ นโยบายดี ๆ มากมายเต็มไปหมด ประชาชนไม่เพียงแค่คน กทม. แต่ประชาชนทั่วประเทศก็ให้ความสนใจการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เหมือนกัน
นายปิยบุตร กล่าวว่า นอกจากจะไปตามสืบเสาะว่า ผู้นำทางความคิด เซเลปทั้งหลายสนับสนุนใคร อยากเลือกใคร เท่านั้นไม่พอ มีการแนะนำกันด้วยว่า ควรเลือกผู้ว่าฯ กทม.แบบไหน มิบังอาจไปแนะนำว่า ผู้ว่าฯ กทม.ที่ดีต้องมีคุณสมบัติแบบใด เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่วันนี้จะมาปราศรัยให้ฟังว่า คุณสมบัติของนายวิโรจน์มีอะไร และมีความจำเป็นยิ่งยวดที่ กทม.วันนี้ ต้องมีผู้ว่าฯที่ชื่อนายวิโรจน์
ประการที่ 1 นายวิโรจน์ จะเข้าไปเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่พร้อมชนกับทุกปัญหา พร้อมชนกับต้นตอของปัญหา คงไม่ต้องขยายความมากมาย เราเห็นแคมเปญการหาเสียงครั้งนี้ เห็นชัดอยู่แล้วว่า คือการพร้อมชนกับปัญหา หมายความว่า ทำไมเราไม่แก้ ทำไมต้องชน ปัญหาทุกปัญหาต้องแก้ไขแน่ แต่การแก้ทีละหน่อย ประเภทแจกยาพาราเซเตมอลให้กิน พอป่วยใหม่กินยาใหม่ มันไม่เพียงพอกับการแก้ปัญหา กทม.ในวันนี้ เพราะเป็นปัญหาสะสมมายาวนาน พัวพันอีรุงตุงนังไม่หมด ถ้าไม่เข้าไปแตะต้นตอของปัญหา จะไม่มีทางแก้ไขได้สำเร็จ
แน่นอนว่า กทม.ปราศรัยกัน เช่น ใครจะแก้ปัญหารถติด น้ำท่วม ขยะเหม็น วนเวียนกันอยู่เรื่องนี้ พวกนี้ต้องแก้แน่นอน แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ มีปัญหาเชิงระบบ เชิงโครงสร้างอยู่ด้วย นโยบายของนายวิโรจน์ทั้ง 12 ข้อ ถูกกลั่นกรองจากวิธีคิดแบบนี้ นอกจากแก้ปัญหายิบย่อยแล้ว ต้องแก้ปัญหาทางโครงสร้างด้วย เพื่อทำให้ปัญหายิบย่อยหมดไป และไม่เวียนกลับมาอีก ต่อไป กทม. จะได้มีคนมีความรู้ความสามารถบริหารได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีคนแบบวิโรจน์ ต้องเอาไปถางทางก่อน เพื่อให้คนต่อไปเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะได้เดินกันสะดวก
พอบอกว่าวิโรจน์ท้าชนกับปัญหา ก็ถูกวิจารณ์ว่าชนจังเลย ไม่ประนีประนอมแล้วจะบริหารงานอย่างไร มีคนติติงกันมา การชนกับปัญหา กับการประนีประนอม มันคนละเรื่องกัน การชนกับปัญหาพร้อม ๆ กับการประนีประนอมในการบริหารงาน ทำด้วยกันได้ เพียงแต่นายวิโรจน์บอกว่า จะชนกับความอยุติธรรม ความเอารัดเอาเปรียบ ชนกับความไม่ถูกต้อง และไม่มีวันประนีประนอมกับเรื่องเหล่านี้โดยเด็ดขาด มิใช่เป็นคนผู้บริหารแบบไม้หลักปักขี้เล่น สุดท้ายหมด 4 ปีไม่ได้ทำอะไรเลย
ดังนั้นผู้บริหารที่ดี ต้องมีความกล้าหาญที่จะชนกับปัญหา เพราะเขาเป็นตัวแทนของพวกเรา จะเอาพี่น้องชาว กทม.คนเล็กคนน้อย ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมาย ชีวิตหาเช้ากินค่ำอยู่แล้วไปชนปัญหาแทนผู้ว่าฯ กทม.เป็นไปไม่ได้ ผู้ว่าฯ เป็นตัวแทนที่คนเลือกมา มีอำนาจตามกฎหมาย มีกลไกเครือข่ายข้าราชการ กทม. มีอำนาจรัฐที่ถืออยู่ ดังนั้นผู้ว่าฯเป็นคนเดียวต้องชนแทนประชาชน และสามารถประนีประนอมบริหารงานได้ คือการบริหารจัดการ ไม่ใช่ไม้หลักปักขี้เลน ประนีประนอมกับสิ่งไม่ถูกต้อง
“ผมรู้จักวิโรจน์ตั้งแต่อยู่พรรคอนาคตใหม่ด้วยกัน หาเสียงด้วยกัน ผมไม่เคยเห็นวิโรจน์เดินไปหาเรื่องใครที่ไหน ถึงเวลาทำงานเขาก็ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน บริหารงานเป็น ใช่ว่าเจอนายกฯที่ไม่ชอบ แล้วจะเดินไปเบิ้ดกะโหลกที่ไหน เรารู้ว่าต่างคนต่างบทบาท ต่างอำนาจหน้าที่ ถึงเวลาก็ต้องทำงาน แต่เข้าใจว่านายกฯครั้งหน้า ทุกคนคงอยากให้พิธาเป็นแล้วมั้ง มันไม่ได้มีปัญหา ไม่ใช่ 1-2 เรื่องขัดแย้ง แล้วทำให้วิโรจน์ทำงานกับคนอื่นไม่ได้ แต่การกล้าชนปัญหาทำให้ปัญหาหมักหมมใน กทม.ยาวนาน ได้รับการแก้ไข” นายปิยบุตร กล่าว
ประการที่ 2 นายวิโรจน์ จะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ของคนส่วนใหญ่ คนเสียเปรียบ คนด้อยโอกาส คนจน และทำให้เมือง กทม.เป็นเมืองที่คนเท่าเทียมกัน นายวิโรจน์ ออกเวทีรณรงค์ ดีเบตปราศรัยหลายครั้งต่อเนื่องกัน สิ่งหนึ่งที่ย้ำเสมอคือ เวลาเขาและทีมงานออกแบบนโยบาย ไม่ใช่อยู่ดี ๆ คิด ๆ เขียน ๆ หรือเปิดโซเชียลมีเดียดูแล้วก็อปปี้มา แต่เขาเริ่มต้นจากการสำรวจตรวจสอบปัญหาใน กทม.ก่อน แล้วนำปัญหายิบย่อยเหล่านั้น มาร้อยรัดเรียงกัน แล้วสรุปว่า กทม.ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ เป็นเมืองที่ไม่ทำให้คนเท่าเทียมกัน แต่เป็นเมืองที่ทำให้เกิดความเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้นจึงตั้งพื้นฐานนโยบายว่า เมืองที่คนเท่ากัน
วิธีคิดแบบนี้ ออกแบบนโยบายมา 12 ข้อ นั่นคือนโยบายที่ยืนยันว่า ยืนข้างคนส่วนใหญ่ วิโรจน์จะเป็นตัวแทนผู้ว่าฯ กทม.ของคนส่วนใหญ่ คนเสียเปรียบในทางโครงสร้าง เข้าไม่ถึงโอกาสต่าง ๆ นอกจากนี้วิโรจน์ สืบสานปณิธานพรรคอนาคตใหม่เลือกตั้งปี 2562 เข้าใจว่าพรรคก้าวไกลเอาไปทำต่อด้วย ครั้งนี้เขาเอานโยบายนี้มาเรียวเล็กให้เป็นรูปธรรมใน กทม. เราฝันอยากให้สวัสดิการทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะ กทม. แต่ทำอย่างไรได้ พิธายังไม่ได้เป็นนายกฯ ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นในเมื่อวิโรจน์จะแข่งขันระดับ กทม. จึงหยิบนโยบายนี้มาปรับปรุงใน กทม. ไม่ใช่สัญญาในอากาศ แต่เขาหาวิธีหาเงินให้ด้วย เป็นต้น
“ทุกบาททุกสตางค์ของเศรษฐี เจ้าสัว อสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่เงินจากน้ำพักน้ำแรงของเขาฝ่ายเดียว แต่ทุกกำไรของพวกเรา คือหยาดเหงื่อและแรงงานของพี่น้องประชาชนทั้งหมด แต่เรามองด้วยตาเปล่า เรามองไม่เห็น แล้วคิดว่าเขามีเงินทุน เขาสร้างได้ ถ้าเรามีเราสร้างบ้าง นี่คือการเอารัดเอาเปรียบในทางโครงสร้าง” นายปิยบุตร กล่าว
นโยบายของวิโรจน์ ต้องการให้คนเท่ากัน จึงดูระบบภาษีว่า อะไรต้องจ่ายก็ต้องจ่าย ภาษีโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง เขาจะไปตามทวง 3 หมื่นกว่าล้านบาท และเอามาทำสวัสดิการ เติมเงินให้เด็ก ให้คนชรา ผู้พิการ ค่าขยะก็เหมือนกัน ทุกคนจ่ายเท่ากันหมดไม่ว่าขยะเยอะหรือน้อย แต่รู้สึกหรือไม่ว่ากว่าจะมาเก็บขยะบ้านเรา อย่างน้อยมี 2-3 วัน แต่ห้างใหญ่ ร้านสะดวกซื้อ เดี๋ยวมีรถมาเก็บ อะไรจะโชคดีขนาดนี้ หน่วยงานรัฐอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างเลย
“วิโรจน์จึงเสนอว่า ให้คุณจ่ายเยอะกว่าคนอื่นหน่อย เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่ถ่างไปมากขึ้น ให้เท่ากัน หรืออย่างน้อยใกล้กันที่สุด ดังนั้นวิโรจน์จึงเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่เหมาะสมที่สุด ที่ต้องส่งไปเป็นผู้ว่าฯ กทม.ในสมัยนี้ เพราะทำให้ กทม.เป็นเมืองที่คนเท่าเทียมกัน” นายปิยบุตร กล่าว
ประการที่ 3 นายวิโรจน์ เป็นผู้ว่าฯ กทม.นักบริหาร เพราะก่อนที่เขาจะมาเป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขานำพอร์ตฟอร์ลิโอมาเสนอ เราเปิดดูเห็นว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัททำหนังสือ ทำสื่อการเรียนการสอน แล้วบริหารก็ดี และตอนอยู่ในนั้น ไม่ใช่บริหารระดับท็อปสุด แต่ไม่ได้ระดับล่าง แต่เขาอยู่กลาง ๆ ทำให้รู้ทุกเหลี่ยม รู้ว่าระดับล่างต้องการอะไร เจ้าของต้องการอะไร ศิลปะในการบริหารแบบนี้ คือเหมาะกับการเป็นผู้ว่าฯ กทม. การวิจารณ์ว่าวิโรจน์ดีเบตเก่งอย่างเดียว ถึงเวลาบริหารไม่ได้ ไม่จริง
เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวด้วยว่า คนที่จะบริหารได้ ต้องมีวิธีคิดก่อน ไม่ใช่บริหารงู ๆ ปลา ๆ วิธีคิดของวิโรจน์ชัดเจนมากคือ เมืองที่คนเท่ากัน เขาชัดเจนมากในจุดนี้ ก่อนจะมาแตกเป็นนโยบาย เรียบเรียงร้อยรัดให้คนเข้าใจ มีวิธีการสื่อสารที่ดี ผู้ใต้บังคับบัญชาถึงไปปฏิบัติได้ ถ้าบริหารอย่างเดียว สื่อสารไม่เป็น ลูกน้องที่ไหนจะรู้ว่าต้องทำอะไร พวกที่บอกว่า ทำเป็นอย่างเดียวพูดไม่เก่งเนี่ย เผลอ ๆ พูดไม่เก่ง ทำไม่เป็นด้วย แต่วิโรจน์คิดเป็นระบบ ถ่ายทอดเป็นระบบ และปฏิบัติบริหารได้จริง
ประการที่ 4 นายวิโรจน์ จะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่เป็นพร้อมจะทลายกับข้อจำกัดทุกอย่าง เรื่องนี้พิสูจน์ว่าใครบริหารเป็นหรือไม่เป็น ถ้าผู้บริหารทุกคนยืมกุมเป้ากางเกง แล้วบอกว่า ครับ ค่ะ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ทำ ถ้ามีผู้บริหารบอกว่า ฝ่ายกฎหมายมาตรวจสอบ อันนี้ก็ติด แก้ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลย อย่างนั้นเราอยู่เฉย ๆ ดีกว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย อย่างน้อยก็ไม่เจ็บตัว พี่น้องอยากได้ผู้บริหารแบบนี้เหรอ ผู้บริหารที่ ข้าราชการชงให้ตบอย่างเดียว ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เห็นข้อจำกัดแล้วต้องทลาย แต่กลับนอนหมอบทันที เราอยากเห็นผู้ว่าฯ กทม.แบบนี้หรือไม่
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า คนที่เติบโตมาใน กทม.ทราบดีว่าโครงสร้างบริหารแผ่นดินไทยที่เป็นอยู่ มันเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ คือแม้เราจะบอกว่ามีอำนาจกระจายท้องถิ่น ไป กทม.แล้ว แต่ถึงเวลาเข้ามาเป็น อำนาจในมือมันน้อยนิด กฎหมายห้ามนั่น ห้ามนี่ งบประมาณก็ไม่พอ นี่คือข้อจำกัดที่ผู้ว่าฯ กทม.เจอเหมือนกันหมด พอเจอแบบนี้มีทางเลือก 2 ทางคือ นอนเฉย ๆ แล้ว 4 ปีพ้นจากตำแหน่งแล้ว อีกอย่างคือ กฎหมายไหนมีปัญหา ติดขัด ก็ต้องเข้าไปแก้มัน เปลี่ยนมัน สรรหาวิธีทลายข้อจำกัดเหล่านี้ให้ได้ และนี่จึงเป็นที่มาว่า ประชาชนไม่สามารถเลือกวิโรจน์ได้คนเดียว ต้องเลือกผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคก้าวไกลเข้าไปพร้อมกันด้วย ถ้าข้อบัญญัติท้องถิ่นไหนติดขัด ส.ก.ก้าวไกล ลุยเปลี่ยน งบประมาณเอามาใช้เติมสวัสดิการให้คน กทม. ทำถนน แก้ขุดลอกคูคลองแก้น้ำท่วม ตรงไหนต้องใช้ ส.ก.ก้าวไกล โหวตข้อบัญญัติท้องถิ่น โหวตงบประมาณเหล่านี้ให้
“คนถาม อย่างนี้เป็นเผด็จการหรือไม่ องค์กรตรวจสอบในไทยเยอะมาก สตง. ป.ป.ช. ถ้าพูดแบบนี้ อย่างนี้นายกฯก็ไม่ต้องมีเสียงข้างมากในสภาหรือไม่ โดยสภาพของเรื่อง ผู้บริหารเมืองใน กทม.จำเป็นต้องมี ส.ก.อยู่แล้ว ส่วนระบบการตรวจสอบคอร์รัปชั่นมีองค์กรอิสระ ยังไม่นับรวมว่า นโยบายของวิโรจน์บอกว่า Open Local Government เป็นนโยบายรัฐบาลท้องถิ่นเปิดเผย โหวตให้ถ่ายทอดสดประชุมสภา กทม.เลย แล้วมีการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาคอยตรวจสอบด้วย เวลาทำสัญญาประมูล เปิดให้หมด การคอร์รัปชั่นเกิดน้อยลง ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านี้วิโรจน์จึงต้องขอแรง ส.ก.ก้าวไกลเข้าไปด้วยกัน” นายปิยบุตร กล่าว
เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การเลือกตั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 4 ล้านคน ดังนั้นจึงเป็นที่จับตามองมากจากทั่วประเทศว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าสัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา มีการโยงใยเอาการเมืองระดับชาติมาเป็นเกณฑ์ ปัจจัยในการตัดสินใจด้วย มาตามนัด 3-5 วันสุดท้าย มาตามนัด ประเภท “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” มีหลายเวอร์ชั่นด้วย เวอร์ชั่นหนึ่งเป็นฝ่ายมีความคิดอ่านไม่ตรงกับพรรคก้าวไกล พรรคอนาคตใหม่
อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง เริ่มอธิบายกันแล้วว่า ผลโพลมันไม่แน่ มันมีพลังเงียบ พลังแฝง ผลโพลไม่แน่ มีกลุ่มผู้สูงอายุ มีกลุ่มเป็นพลังแฝงอยู่ในโลกโซเชียล อาจทำให้อีกฝ่ายได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ไป เริ่มมีความกังวลไป รักวิโรจน์เหมือนกัน แต่ต้องเลือกอีกคนหนึ่ง เลือกวิโรจน์ไม่ได้ ไม่งั้นเดี๋ยว มคปด. แมวคาบไปดม เริ่มมีกระแสแบบนี้เกิดขึ้นมาเหมือนกัน
“ตอนผมปราศรัยปิดพรรคอนาคตใหม่ เมื่อ มี.ค. 2562 เกิดกระแสแบบนี้ โหวตเชิงยุทธศาสตร์เกิดกระแสขึ้นมา ครั้งนี้มาอีกแล้ว ถ้าเลือกวิโรจน์ สุดท้ายจะไม่ได้เป็นกันทั้งคู่ ทำยังไงดี ผมบอกแบบนี้ว่า ลองดูตัวตน แนวคิด แนวพื้นฐานนโยบายละเอียดทุกคน แล้วตัดสินใจจากจิตสำนึกความต้องการของตนเองออกมา แล้วไม่ต้องกังวลเรื่อง มคปด. เพราะถ้าพี่น้องเลือกตามจิตสำนึก และวิโรจน์ต้องเป็นผู้ว่าฯ กทม.ทันที ไม่มีการผลัดไปรอบหน้า ต้องรอบนี้ พี่น้องต้องออกไปกาหมายเลข 1 ให้ถล่มทลาย ก็ไม่มี มคปด.เพราะวิโรจน์จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. เรื่องง่าย ๆ ก็เท่านี้ เทคะแนนให้วิโรจน์หมดเลย” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวว่า เลิกได้แล้วโหวตเชิงยุทธศาสตร์ รายละเอียดแต่ละคน แต่ละพรรค แต่ละกลุ่ม ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว อาจมีเรื่องคล้ายกัน แต่แก่นสำคัญไม่เหมือนกัน ที่ไม่เหมือนชัดเจนที่สุดคือ ยังไม่มีผู้สมัครคนไหนยืนยันเรื่องเมืองที่คนเท่ากัน เรื่องการกล้าชนกับต้นตอของปัญหา รายละเอียดอาจคล้ายคลึงกันบ้าง เพราะนโยบายจัดการเมืองเปิดตำราเล่มไหน ศึกษาวิจัย เห็นสภาพปัญหาออกแบบคล้ายกัน แต่จุดตัดที่วิโรจน์แตกต่างจากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนอื่นนั่นคือ เขาต้องการให้ กทม.เป็นเมืองของคนทุก ๆ คน รวมทั้งประชากรแฝงที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งด้วย