"นักรัฐศาสตร์ มธ." ประเมินผลเลือกตั้งกทม. เป็นนาฬิกาปลุก ให้ ทุกพรรคปรับตัว

"นักรัฐศาสตร์ มธ." ประเมินผลเลือกตั้งกทม. เป็นนาฬิกาปลุก ให้ ทุกพรรคปรับตัว

"อรรถสิทธิ์ พานแก้ว" ประเมินผลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. -ส.ก. "พท.-ก้าวไกล-ปชป.-สกลธี" ต่อยอดได้ แต่ "พปชร." ต้องปรับหลักมีความแตกแยก พร้อมชี้ผลเลือกตั้งคือนาฬิกาปลุกให้ ต้องปรับตัว

            นายอรรถสิทธิ์ พานแก้ว  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงผลการเลือกตั้งผูว่าฯกทม. และส.ก. ว่า คะแนนที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. ในนามอิสระได้คะแนนสูงและทิ้งห่างผู้สมัครรายอื่นถือเป็นสัญญาณที่จะท้อนความรู้สึกของคนกทม. ​ต่อบริบททางการเมืองในภาพรวม ว่า ต้องการเลือกสิ่งใหม่  โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอยู่นานของรัฐบาล

 

            นายอรรถสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับผลคะแนนที่เลือกผู้สมัครที่สังกัดพรรค เช่น นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯกทม.​จากพรรคประชาธิปัตย์ ตนมองว่าพรรคประชาธิปัตยย์ต้องคิดหนัก เพราะคะแนนรวมที่นายสุชัชวีร์ได้รับ คือ 2.5 แสนคะแนน ถือว่าได้น้อยกว่าคะแนนเลือกตั้งส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ในปี 2562 ที่ได้คะแนนรวมกว่า 4.7 แสนคะแนน ขณะที่ผลการเลือกตั้งส.ก. รอบที่ผ่านมาส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ถึง 75% แต่ปัจจุบันเหลือเพียยง 8 ที่นั่ง ดังนั้นจะเห็นว่าเครือข่ายของพรรคระดับท้องถิ่นหายไป และคะแนนหลักเทให้กับ นายชัชชาติ 

            นายอรรถสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับพรรคก้าวไกล แม้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯกทม. พรรคก้าวไกลจะแพ้ แต่ถือเป็นชัยชนะเพราะพรรคได้คะแนนรวมเพิ่มมากขึ้นอีกทั้งได้จำนวนส.ก.เข้าสภากทม. เป็นอันดับสอองถือว่าได้รับความนิยมในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ส่วนพรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ก. อันดับหนึ่ง  ถือว่าได้กำไรเพราะได้ ส.ก.ในพื้นที่ที่พรรคไม่ได้ส.ส.  ทั้งนี้ตนมองว่ากระแสช่วยหาเสียงของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาพรรคด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทยเป็นปัจจัยหนึ่ง เพราะทำให้ภาพของพรรคเพื่อไทยและนายทักษิณ ชินวัตรมีความชัดเจน และมีจุดยึดมากขึ้น 

\"นักรัฐศาสตร์ มธ.\" ประเมินผลเลือกตั้งกทม. เป็นนาฬิกาปลุก ให้ ทุกพรรคปรับตัว

            "การเลือกตั้งคราวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นนาน มีคนออกมาใช้สิทธิไม่น้อย ทำให้กระแสบริบทการเมืองเลือกตั้งและแสดงออกสะท้อนถึงภาพการเมืองใหญ่ สองอย่างเป็นปัจจัยทำให้พรรคเพื่อไทยชนะในสนามเลือกตั้งส.ก.  แต่ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นผมมองว่าเป็นเหมือนนาฬิกาปลุก ให้พรรคต่างๆ ต้องตื่นตัวกับกระแสของตัวเอง รวมถึงต้องประเมินตัวเองใหม่ เพื่อวางแผนทำการเมืองระดับชาติ เพราะผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.​ รอบนี้ ไม่ใช่บรรทัดฐานว่าอนาคตการเลือกตั้งต้องเป็นแบบนี้เสมอไป ดังนั้นทุกพรรคต้องประเมินจุดยืนของตัวเองว่า พรรคอยู่ตรงไหนในใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” นายอรรถสิทธิ์ กล่าว

            นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ส่วนผลการเลือกตั้งของนายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระ ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งอันดับ 4 ได้กว่า 2.3 แสนคะแนน ถือว่ากระแสคนที่เป็นกลุ่มความคิดเดียวกับ กปปส. กลับมาอีกครั้ง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่ผลเลือกตั้ง ส.ก. พบว่าได้เพียง 2 ที่นั่ง สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความแตกแยกในพรรค และโครงสร้างทางการเมืองในพรรคมีผลกระทบสำคัญ

 

\"นักรัฐศาสตร์ มธ.\" ประเมินผลเลือกตั้งกทม. เป็นนาฬิกาปลุก ให้ ทุกพรรคปรับตัว

            “ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพของพรรคพลังประชารัฐ ถูกคนมองว่าคือ ตัวแทนของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แต่ปัญหาภายในที่เกิดก่อนเลือกตั้ง ทั้งกลุ่มผู้สมัคร ส.ก. แตกแยก หันไปสนับสนุนนายสกลธี และบางส่วนไม่ไป ทำให้การรณรงค์หาเสียงได้รับผลกระทบ” นายอรรถสิทธิ์ กล่าว

 

            เมื่อถามว่าต่อจากนี้บทบาทผู้นำของผู้ว่าฯกทม. คนใหม่ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกเปรียบเทียบกันได้หรือไม่ นายอรรถสิทธิ์ กล่าวโดยเชื่อว่าจะมีคนนำไปเปรียบเทียบต่อภาวะผู้นำ เพราะแต่ละคนล้วนอยากได้ผู้นำแบบที่ตนต้องการ อย่างไรก็ดีการเปรียบเทียบที่อาจจะเกิดขึ้น ในแง่การทำงาน แต่การพิสูจน์ด้วยผลงานจะเป็นคำตอบว่าจะเทียบกันได้หรือไม่.