ถอดรหัสคะแนน "ส.ก.-ส.ส." เบื้องลึก"เลือกขั้ว"แอบแรง
โฟกัสกรุ๊ป “2 ขั้ว” จะพบว่า “ขั้วประชาธิปไตย” มีคะแนนเลือกตั้ง ส.ก. ลดลงจากเลือกตั้ง ส.ส. 64,092 คะแนน ในภาพรวมยังรักษาฐานคะแนนได้ได้ ตรงกันข้ามกับ “ขั้วอนุรักษ์นิยม” มีคะแนนเลือกตั้ง ส.ก. ลดลงจากเลือกตั้ง ส.ส. ถึง 400,022 คะแนน
ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพ (ส.ก.) สะท้อนความนิยมในตัว “พรรคการเมือง” ที่ส่งผู้สมัคร ส.ก. ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการเลือกตั้ง ส.ก. มีความใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง ส.ส. มาก เพราะเป็นการเลือกระดับพื้นที่ แม้ ส.ก. จะมีครบ 50 เขต แต่ ส.ส. มีจำนวน 33 ที่นั่ง ทำให้บางเขตต้องเลือกรวมกับเขตอื่นจำนวน ส.ก. 50 เขต แบ่งเป็น
- พรรคเพื่อไทย 20 เขต
- พรรคก้าวไกล 14 เขต
- พรรคประชาธิปัตย์ 9 เขต
- กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 เขต
- พรรคพลังประชารัฐ 2 เขต
- พรรคไทยสร้างไทย 2 เขต
สำหรับคะแนนจาก ผู้สมัคร ส.ก. ของแต่ละพรรค ที่สามารถนำมาใช้เป็นฐานวัดการเลือกตั้งสนามใหญ่ได้ พรรคเพื่อไทย 620,009 คะแนน เมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. กทม. ซึ่งเพื่อไทยเคยได้คะแนนรวม 604,661 ซึ่งถือว่าได้เพิ่มมาเกือบ 2 หมื่นคะแนน โดยอาจจะได้จากอานิสงค์จากกระแสผู้ว่าฯ กทม. ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มารวมด้วย
การกวาดเก้าอี้ ส.ก. 20 เขต และคะแนนรวม 620,009 คะแนน ทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถนำมาต่อยอดการเมืองสนามใหญ่ได้ โดยเฉพาะกระแสแลนด์สไลด์ที่ถูกปั่นติดลมบน รวมถึงสามารถหยุดเลือดไหลออกจากพรรคได้พอสมควร เพราะ ส.ส. ที่คิดจะย้ายพรรค อย่างน้อยก็หวั่นกระแสแลนด์สไลด์อยู่ไม่น้อย
พรรคก้าวไกล 482,832 คะแนน ส่วนคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. กทม. ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ อยู่ที่ 804,217 คะแนน หากมองแค่ตัวเลขจะพบว่าคะแนนของ “ก้าวไกล” ลดลงจากสมัยเป็นอดีตพรรคอนาคตใหม่ แต่ฐานคะแนน 482,832 คะแนน คือฐานจริงของพรรคก้าวไกล เนื่องจากการเลือกตั้งปี 2562 มีคะแนนจากอดีตพรรคไทยรักษาชาติ ที่ถูกยุบพรรคก่อนการเลือกตั้งมารวมอยู่ด้วย
ดังนั้นการได้ ส.ก. 14 เขต และการเก็บแต้มในพื้นที่ ส.ก. 482,832 คะแนน สามารถทำให้พรรคก้าวไกลนำไปขยายฐานต่อได้อีกอย่างแน่นอน ที่สำคัญเลือกตั้งครั้งหน้า “นิวโหวตเตอร์” ที่เป็นฐานเสียงสำคัญ จะมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พรรคก้าวไกลมีโอกาสสูงที่จะได้แต้มการเมืองในพื้นที่ กทม.เพิ่ม
พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะได้เก้าอี้ ส.ก. 9 เขต และคะแนนรวม ส.ก. 348,853 คะแนน ทวงคืนเก้าอี้จากการเลือกตั้ง ปี 2562 มาได้ หลังไม่ชนะในการเลือกตั้ง ส.ส. กทม. แม้แต่เก้าอี้เดียว แต่คะแนนจากสนาม ส.ส. 474,836 ซึ่งมากกว่าสนาม ส.ก.
ฉะนั้น หากสังเคราะห์คะแนนการเมืองในพื้นที่ กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ (ส.ส. 474,836 คะแนน ลบ ส.ก. 348,853 คะแนน) คะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ กลับลดน้อยกว่าเดิมลงไป 125,983 คะแนน จึงต้องติดตามการแก้เกมของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะแม้จะดีใจกับการยึดพื้นที่คืนได้ แต่คะแนนที่ลดลงไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอน
พรรคพลังประชารัฐ ความนิยมดิ่งต่ำลงมาก ได้เก้าอี้ ส.ก. 2 เขต แถมคะแนน ส.ก. 274,244 คะแนน จากเดิมที่มีแต้มในการเลือกตั้ง ส.ส. กทม.อยู่ที่ 791,821 คะแนน ทำให้คะแนนลดน้อยกว่าเดิม 517,577 คะแนน ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องกลับมาคิดทบทวนยุทธศาสตร์กันใหม่
โดยเฉพาะ “3 ป.” ที่จะปล่อยให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคเกิดขึ้นอีกไม่ได้แล้ว เนื่องจากการเก่งแย่งชิงดีภายในพรรค เพื่อการมีตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ในสายตาของประชาชนมาโดยตลอด ส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐลดน้อยถอยลง รวมถึงความนิยมของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ที่ลดน้อยลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ฐานคะแนนของพรรคพลังประชารัฐ อาจต้องนับรวมกับ “กลุ่มรักษ์กรุงเทพ” ที่ได้ ส.ก. 3 ที่นั่ง ได้ 190,206 คะแนน และพรรคกล้า 53,332 คะแนน มานับรวมด้วย เนื่องจากอยู่ในฐานเสียงเดียวกันที่ไปตัดแต้มกันเองกับพรรคพลังประชารัฐ
พรรคไทยสร้างไทย ได้ส.ก.2 ที่นั่ง ได้ 241,945 คะแนน ซึ่งเป็นฐานคะแนนเดิมของพรรคเพื่อไทย ที่ติดตัว “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ออกมา แม้ตัวของ “น.ต.ศิธา ทิวารี” ได้คะแนนผู้ว่าฯกทม.เพียง 73,720 คะแนน ซึ่งคะแนนเลือก ส.ก. ไทยสร้างไทย มากกว่า “ศิธา” เนื่องจากฐานเสียงของ “เด็กสุดารัตน์” ในพื้นที่เลือก ส.ก. ไทยสร้างไทย
การปักหมุด ส.ก. ของพรรคไทยสร้างไทย ทำให้พรรคเกิดใหม่ มีลุ้นทางการเมืองมากยิ่งขึ้น และหากได้ตัวผู้สมัครที่มีฐานเสียงในพื้นที่ อาจจะเพิ่มแต้มให้พรรคการเมืองได้พอสมควร
ฉะนั้นหากนำคะแนนการเลือกตั้งมาโฟกัสกรุ๊ป “2 ขั้ว” จะพบว่า “ขั้วประชาธิปไตย” มีคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. (เพื่อไทย-ก้าวไกล) รวมกัน 1,408,878 คะแนน ส่วนคะแนนเลือกตั้ง ส.ก. (เพื่อไทย-ก้าวไกล-ไทยสร้างไทย) รวมกัน 1,344,786 คะแนน แม้คะแนนรวมขั้วจากการเลือกตั้ง ส.ก. จะน้อยกว่าการเลือกตั้ง ส.ส. 64,092 คะแนน แต่ในภาพรวมยังรักษาฐานคะแนนไม่ให้ลดน้อยไปมากกว่าเดิมนัก
ตรงกันข้ามกับ “ขั้วอนุรักษ์นิยม” มีคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. (พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์) 1,266,657 คะแนน ส่วนคะแนนเลือกตั้ง ส.ก. (ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ-กลุ่มรักษ์กรุงเทพ-กล้า) รวมกัน 866,635 คะแนน ซึ่งคะแนนเลือกตั้ง ส.ก. ลดน้อยลงกว่าเลือกตั้ง ส.ส. ถึง 400,022 คะแนน
จะสังเกตได้ว่าคะแนนของ “ขั้วอนุรักษ์นิยม” ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตรงกันข้ามกับ “ขั้วประชาธิปไตย” ที่แม้คะแนนจะลดลงเช่นกัน แต่เป็นการลดลงที่น้อยมาก จนแทบจะไม่ส่งผลต่อความนิยมในตัวพรรค
ดังนั้นพรรคการเมือง “ขั้วอนุรักษ์นิยม” จำเป็นต้องปรับรูปแบบการเก็บแต้มการเมืองในพื้นที่กทม.อย่างเร่งด่วน ส่วน “ขั้วประชาธิปไตย” ยังต้องสร้างกระแสอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงคะแนนจากคู่แข่งให้ได้มากที่สุดเช่นกัน
ผลคะแนนส.ก. ผู้ว่าฯ กทม. อาจเป็นภาพจำลองการเมืองสนาม ส.ส.ได้อยู่บ้าง เพราะยังเห็นนัยการเลือกข้าง เลือกขั้ว เพราะความเบื่อรัฐบาล กับการเมืองใหญ่ สนาม กทม.ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า จึงส่อเค้าจะดุเดือดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา