"บิ๊กน้อย" เปิดปมร้าวฉาน "ธรรมนัส" ไม่ให้เกียรติ -หุ่นเชิด-ป่วนรัฐบาล
"พล.อ.วิชญ์" ลั่น ผมป็นหัวหน้าพรรค ไม่ใช่หุ่นเชิด หวังเข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง กลับไม่ให้เกียรติ ไม่ฟังมติพรรค ก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ แฉ เป้าหมาย "ธรรมนัส" มาเพื่อไปต่อ
25 พ.ค.2565 พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย กล่าวถึงปัญหาภายในพรรคเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกับกลุ่มก๊วนของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย จนเป็นที่มาของการลาออกจากหัวหน้าพรรค และ 15 กรรมการบริหารพรรคว่า ตนไม่ได้มีอะไรกับใคร เพียงแต่ว่า ตนกับ ร.อ.ธรรมนัส มีความไม่เข้าใจที่เป็นไปในทิศทางเดียว กันต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ซึ่งตนก็คิดว่ามันก็ไปด้วยกันลำบาก
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือถ้าเรารับฟังทั้งสองฝ่ายก็คงจะไปได้ แต่ไปเชื่อบุคคลที่ 3 บ้าง อะไรบ้าง เราควรจะมานั่งคุยกัน ซึ่งตนก็เห็นคนอื่นที่เพิ่งเข้ามาในพรรค เห็นถึงความตั้งใจในการทำงานเพื่อบ้านเมือง พอมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ทุกคนก็ผิดหวังกับสิ่งที่เขาได้ตั้งใจที่จะมาทำ
"เราเหมือนเป็นหุ่น ที่วางไว้เฉยๆจะหยิบไปวางตรงไหนก็ได้ มาสั่งการ มาทำอะไร ผมไม่ใช่หุ่น ผมเป็นคน และอยากทำงานให้ดี และพยายามฟังทุกคนที่เขามีข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะที่ดีแต่กลับกลายเป็นบางสิ่งบางอย่างเขาไม่เอา และจะไม่ทำตาม คือสิ่งที่ผมคิดอยู่ ว่าผมไม่ใช่หุ่นเชิด แต่มานั่งทำงาน และมีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าพรรค แต่ไม่ใช่บ้าตำแหน่ง หรือจะมามีอำนาจหรืออะไรทั้งสิ้น"
พล.อ.วิชญ์ ย้ำว่า ตนฟังเสียงส่วนรวมทั้งหมด ออกมาเป็นอย่างไร ตนก็เอาตามนั้น ตนไม่เคยวางอำนาจตัวเองว่าเป็นหัวหน้าพรรคและจะต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้ โดยจะมีใครมาขัดตนไม่ได้เลย ไม่เคยทำ
ตนผ่านการปกครองหน่วยมาพอสมควร อยู่กับหน่วยทหารมาตลอด ก็ฟังเสียงลูกน้อง ว่าเขาต้องการอะไร เราก็ทำในลักษณะ ที่ส่วนรวมต้องการ อันนี้เป็นสิ่งที่ตนยึดหลักมาตลอดคนเราหากไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตนคิดว่ามันไม่ถูกต้อง คนเราถึงจะอยู่ในตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ เราต้องยอมรับและให้เกียรติแต่ละคนด้วย ไม่ใช่สิ่งต่างๆที่ออกมาแล้ว ทำแล้ว ไม่ให้เกียรติกัน ตรงนี้มันอยู่ด้วยกันไม่ได้
"โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเป็นทหารมาก่อน ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักที่ทุกคน ต้องมอง หรือไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่เป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องให้เกียรติกัน ซึ่งจุดตรงนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันสำคัญกับตัวผมและคิดว่าการทำงานอะไรต่างๆก็คงทำกันไม่ได้ "
พล.อ.วิชญ์ กล่วต่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการไม่รับฟังคนอื่น เขาจะพูดถูกหรือไม่ ก็ต้องรับฟังไว้ก่อน แล้วค่อยมาตัดสินใจว่าสิ่งไหนควรจะเป็นไปได้ทำได้ ที่ส่งผลดีต่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวมเราก็รับมา นี่คือสิ่งที่เราต้องรับฟัง ไม่ใช่ไม่รับฟังคนอื่นแล้ว แถมยังกีดกันต่างๆนาๆในสิ่งที่เขาทำดีกว่า ตนคิดว่ามันไม่ควร
"การที่เขามีก๊วนของเขา มีอะไรต่างๆ ที่ดึงจากพรรคโน้นมาเป็นพรรคนี้ เขาสามารถผลึกในส่วนของเขาได้ไม่มีปัญหาแต่ก็ต้องให้เกียรติกัน ไม่ใช่คุณคิดจะทำอะไรก็คิดทำกันแต่ในก๊วนของตัวเอง โดยส่วนรวมยังไม่เห็นด้วย ผมคิดว่ามันไม่ใช่ เพราะการเมือง ไม่ใช่มีแค่กลุ่มหนึ่ง หรือ 18 คน"
พล.อ.วิชญ์ กล่าวว่า การเมืองยังมีประกอบอื่นๆด้วย ทั้งบุคคลที่เข้ามาเป็นพรรคการเมืองได้ต้องมีทั้งหมดเท่าไหร่ มีประชาชนร่วมเท่าไร เจ้าของพรรคการเมืองไม่ใช่พวกเรา แต่เป็นของประชาชน และไม่ควรจะมาแบ่งกลุ่ม ว่ากลุ่มตัวเองเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นกลุ่มอย่างนี้ จะสามารถมาครอบงำพรรคได้ตามอำเภอใจในลักษณะแบบนั้นคงไม่ได้
ยืนยันว่า ทั้ง 18 คนตนไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเขา แต่การกระทำต่างๆส่อในลักษณะเหมือนเขาต้องการที่จะตั้งของเขาเอง อยู่ของเขาเองทำของเขาเอง ไม่ฟังเสียงคนอื่น มันก็ลำบาก
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการเข้ามาของเขา มาเพื่อประโยชน์บางสิ่งบางอย่าง และหวังไปต่อไม่ใช่ปักหลักที่นี่แน่นอน แต่จะไปที่ไหนก็แล้วตามที่เขาต้องการ ก็ควรจะคิดถึงส่วนรวมของพรรค ซึ่งกว่าจะตั้งขึ้นมาได้ ไม่ใช่ง่ายๆนี่คือจุดหนึ่งที่ตนคิดและอยากจะพูดให้ฟังว่า มันไม่ใช่แนวทางที่เราคิดกันตั้งแต่แรกเริ่มต้น พอมาถึงแล้วก็มีสิ่งหลายๆอย่างที่เกิดขึ้น ปัญหาต่างๆรุมล้อม และยังมีบุคคลที่ 3 ที่คอยเสี้ยม ทำให้เกิดปัญหา
" เลขาพรรค ท่านเองก็พยายาม ที่จะพูดโดยเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นหลัก มันก็คงลำบาก การที่จะพิจารณาจะทำอะไร ที่จะทำให้รัฐบาลปั่นป่วนได้ มันไม่ควรที่จะทำเพราะเรา ไม่ได้มาตั้งพรรคเพื่อเป็นฝ่ายค้าน แต่เรายังอยู่ส่วนหนึ่งของรัฐบาล เพราะฉะนั้นการทำอะไรเราต้องฟังเสียงพรรคร่วมรัฐบาลด้วย การที่ท่านเลขาจะไปรวมกลุ่ม หรือจะไปทำอะไรในสิ่งนี้ มันก็ต้องฟังพรรคด้วยว่ามีมติอย่างไร ถ้ามีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก็ควรทำตามมติพรรค ไม่เช่นนั้นจะมีพรรคการเมืองไว้ทำไม"
พล.อ.วิชญ์ กล่าวอีกว่า หากมีเป้าหมายในสิ่งที่ทำ พรรคไม่เห็นชอบหรืออะไรต่างๆ ท่านก็ต้องรู้ตัวเองว่าท่านควรจะทำอย่างไรต่อไป ไม่ใช่ปล่อยปัญหานี้ให้เกิดขึ้นในพรรค ทุกคนก็ต้องจ้องอยู่ ในอนาคตข้างหน้า ถ้าเศรษฐกิจไทย ยังเป็นพรรคการเมือง ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งคราวหน้าต่อไปพวกผู้สมัครจะไปหาเสียงกันอย่างไร หากยังแตกคอกันอยู่อย่างนี้ ยังไม่มีความสามัคคีกันในพรรคและทำงานในแต่ละพรรคไม่ตรงกัน ไม่เหมือนกันอย่างนี้ มันจะเป็นไปได้อย่างไรแล้วใคร จะมาทำการเมืองให้ดีและสร้างสรรค์ได้ ทำให้ประเทศบ้านเมืองได้ใน สิ่งต่อๆไปที่เราคิดจะทำให้ดีที่สุด ก็แค่นั้นเอง