โค้งสุดท้าย! “ศรีสุวรรณ” หอบหลักฐานยื่น กกต.ปมป้ายหาเสียง “ชัชชาติ”
โค้งสุดท้าย! “ศรีสุวรรณ” หอบหลักฐานยื่น กกต.ประกอบการวินิจฉัย “ชัชชาติ” ปมไม่เก็บป้ายหาเสียง ก่อนประกาศรับรองผลเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ลั่นไม่สนคะแนนเสียงได้มากแค่ไหน แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ กกต. สืบเนื่องจากการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ผอ.กกต.กทม. ส่งหนังสือไปยังผู้สมัครว่าให้เร่งเก็บป้ายหาเสียงออกจากพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน หลังผ่านไป 3 วันยังมีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.จำนวนมากละเลย เพิกเฉยปล่อยให้มีป้ายหาเสียงติดอยู่ ชี้ให้เห็นว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเหล่านี้อยากมาเป็นตัวแทนประชาชน แต่ไม่สนใจปฏิบัติตามกฎหมาย สมาคมฯจึงนำพยานหลักฐานไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่ สน.ต่าง ๆ โดยจะไปแจ้งความเพิ่มอีกหลายเขต
แต่การที่ กกต.จะเริ่มพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ วันนี้สมาคมฯเห็นว่าการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของผู้สมัคร เป็นกฎหมายพื้นที่ฐานง่าย ๆ จึงเป็นบทเรียนสำคัญ และนำเอาหลักฐานที่ไปแจ้งความไว้มาให้ กกต.ประกอบการวินิจฉัยว่าจะรับรองผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.หรือไม่ รวมทั้งการไม่เก็บป้ายหาเสียงของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนถล่มทะลาย
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนไม่สนใจเรื่องคะแนนเสียงจะได้มากน้อยแค่ไหน แต่การจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้วต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่เอาคะแนนเสียงนับล้านแล้วไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงนำหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมให้ กกต.พิจารณา แม้อ้างว่าเมื่อเสร็จสิ้นการหาเสียงจะเก็บไปใช้ทำกระเป๋า ผ้ากันเปื้อน แต่ปรากฎว่ามีประชาชนนำไป และในป้ายไม่มีชื่อผู้ว่าจ้าง อาจเป็นความพยายามหลบเลี่ยงกฎหมาย
“ถ้าไม่มีเจตนาให้ประชาชนไปเก็บป้ายมาทำกระเป๋า แต่การมาโพสต์ หรือพีอาร์ แต่การอ้างเก็บมาใช้เอง ทีมงานเก็บมาทำกระเป๋าเองหรือไม่ และไม่มีการดำเนินการกับผู้ไปเก็บมาทำกระเป๋า แต่ปล่อยให้การทำกระเป๋าแล้วโพสต์ขาย 2-3 พันบาท คุณชัชชาติก็ไม่ได้ทำอะไร แสดงว่าเห็นด้วย ซึ่งถือว่าย้อนแย้งกันในตัวของคุณชัชชาติเอง” นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า กกต.ควรออกระเบียบมาให้ชัดเจนว่า ประชาชนสามารถเก็บป้ายเอาไปทำอะไรก็ได้ แต่ในเมื่อกฎหมายไม่ได้เขียนเรื่องนี้ไว้โดยตรง เราต้องปฏิบัติตามกฎหมายไว้ก่อน อย่างไรก็ตามเรื่องป้ายหาเสียงตนได้ร้องผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 10 คน คนดังๆทั้งนั้น และผู้สมัคร ส.ก. อีกประมาณ 10 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่ประชุม กกต.จะพิจารณารับรองการประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.ทั้ง 50 เขต โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องวินิจฉัย กรณีเรื่องกล่าวหานายชัชชาติ 2 เรื่อง ได้แก่
1.กรณีการทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลมีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิลทำกระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน เข้าข่ายกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่
2.การร้องเรียนเกี่ยวกับระบบราชการ ซึ่งเป็นการแจ้งผ่านหน่วยงานอื่นไม่ใช่กกต.โดยตรง อ้างว่านายชัชชาติ ระบุเนื้อหาทำนองว่าระบบราชการอาจจะส่งผลต่ออุปสรรคการปฏิบัติงานเพราะมีขั้นตอนเยอะ โดยผู้ร้องอ้างว่าการระบุเช่นนี้เหมือนเป็นการดูถูกระบบราชการ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง และยังไม่สามารถระบุได้ว่าตรงกับข้อกฎหมายใด
ก่อนหน้านี้นายไพฑูรย์ อิสรเสรีพงษ์ ผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทย เขตหนองจอก มาร้องเรียนคัดค้านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ จัดเลี้ยงหัวคะแนน และแจกน้ำดื่มตามงานต่าง ๆ ในเขตหนองจอก งานศพ งานบวช และงานยกช่อฟ้า รวมประมาณ 7 งาน เพื่อเป็นการจูงใจในการเลือกตั้ง โดยมีผู้มาร่วมงานหลายร้อยคน และมีน้ำดื่มมีชื่อของผู้สมัครปรากฏอยู่ที่ชวนน้ำและแก้วน้ำ น้ำดื่มปรากฎอยู่ในงาน ส่วนการจัดเลี้ยงมีการลงเฟซบุ๊ค ว่าเลี้ยงแล้วให้เลือกหมายเลขใด โดยมีหลักฐานจากภาพถ่าย คลิปวีดีโอ
นอกจากนั้นยังมีผู้สมัคร ส.ก.เดินทางมาร้องคัดค้าน ที่ฝ่ายสืบสวนสำนักงาน กกต. อีก 3 ราย แต่ไม่ขอเปิดเผย เนื่องจากกังวลในเรื่องอิทธิพล ขณะเดียวกันนายวรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. 7 สมัย เดินทางมาเรียกร้องให้ กกต.มีการรับรองนายชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยระบุว่าส่วนตัวไม่คิดในเรื่องใดนายชัชชาติ รวมทั้งให้รับรอง ส.ก.ที่ไม่มีเรื่องร้องเรียน เพราะประชาชนรอการทำงานอยู่