"ไทยสร้างไทย" ติงจัดงบปี 2566 สวยหรู แต่ปฏิบัติจริงอาจไม่มีประสิทธิภาพ

"ไทยสร้างไทย" ติงจัดงบปี 2566 สวยหรู แต่ปฏิบัติจริงอาจไม่มีประสิทธิภาพ

"ไทยสร้างไทย" ติงจัดงบปี 2566 ดูสวยหรู แต่ไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนะปรับแก้ไข วาระสองสาม ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก อัดงบดูแลคน ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่ม

4 มิ.ย.2565 นายนพดล มังกรชัย กรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วาระที่หนึ่ง วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาทว่า แม้ในวาระแรกที่ประชุมจะมีมติเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่แล้วก็ตาม แต่ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ และในวาระที่2และ3 มีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอีกหลายจุด เพื่อให้งบประมาณที่มาจากภาษีอากรของประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด 

เพราะการจัดงบประมาณฯ ยังเป็นแค่เครื่องมือสนองตอบยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลที่ค่อนข้างเป็นวาทกรรม แผนงานส่วนใหญ่ดูสวยหรู แต่ไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังวิกฤติในสถานการณ์ปัจจุบัน แผนการจัดงบประมาณฯ ส่วนใหญ่ยังติดอยู่ในวังวนของการเกื้อหนุนระบบอำนาจนิยมและรัฐราชการ จึงมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการพิจารณาแผนการจัดงบประมาณฯ ในวาระ 2-3 ดังต่อไปนี้

1.ต้องปรับเปลี่ยนการบริหารแบบอำนาจนิยม เพราะทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่มีความเชื่อถือและเชื่อมั่นในโครงสร้างของประเทศที่เป็นอยู่ว่าจะสามารถนำพาสังคมออกจากมหาวิกฤตที่กล่าวมาได้ ปัญหาทั้งหมดนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคม ความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ การบั่นทอนและคุกคามสิทธิเสรีภาพอันพึงมีของประชาชน การด้อยค่าระบอบประชาธิปไตย ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และการละเลยต่อหลักนิติธรรม
2.ทิศทาง ยุทธศาสตร์ นโยบายที่ปรากฏอยู่ในแผนงบประมาณปี 2566 แผนงานส่วนใหญ่ดูสวยหรูแต่ไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติที่บังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ยากที่จะพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นหนี้กันถ้วนหน้าทั่วทั้งแผ่นดินทั้งในภาครัฐบาลและภาคครัวเรือน และดูเหมือนว่าจะกลับไปจนยิ่งกว่าเดิมกันถ้วนหน้าโดยเฉพาะคนตัวเล็ก
3.ความคิดแบบอำนาจนิยมและระบบรัฐราชการ เป็นวัฒนธรรมที่ทำลายความเสมอภาค ระบบคุณธรรม หลักนิติธรรม และความสุจริตเที่ยงธรรมอย่างร้ายแรง การกดทับประชาชนแทบทุกระดับด้วยการสร้างหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ และกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น ล้าหลัง สร้างภาระอย่างมหาศาลในการทำมาหากินของประชาชน และอาจก่อให้เกิดการคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร
4.แผนงบประมาณรายจ่ายส่วนใหญ่ ถูกนำไปใช้ไปกับเรื่องบุคลากรและเงินเดือนข้าราชการเพื่อรักษาและธำรงไว้ซึ่งระบบอำนาจนิยมและรัฐราชการ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 24.2 ของวงเงินงบประมาณ (จำนวน 772,119 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1,959 ล้านบาท โดยเป็นรายจ่ายสำหรับเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ จำนวนถึง 322,790 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดงบประมาณรายการค่าดำเนินการภาครัฐ เป็นรายจ่ายเพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวนถึง 402,518 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.6 ของวงเงินงบประมาณ ดูแล้วไม่มีความชัดเจนไม่มีแผนรองรับ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าแผนงบประมาณมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
5. เมื่อได้พิจารณารายละเอียดในแผนงบประมาณแล้วรู้สึกผิดหวังมาก เนื่องจากไม่ได้ให้ความสำคัญกับพี่น้องอย่างเหมาะสมเพียงพอ ไม่ได้มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง  ตัวอย่างเช่น 
-แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย มีงบประมาณรองรับแค่ 448.7 ล้านบาท แม้งบประมาณบางส่วนไปอยู่ที่กรมกิจการผู้สูงอายุ แต่ก็มีจำนวนแค่ 852 ล้านบาท ดูแล้วไม่มีทางเพียงพอในการรองรับภารกิจที่ต้องเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย
-แผนงานในการดูแลกลุ่มเกษตรกร ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชาชน เขียนนโยบายไว้สวยหรู แต่เมื่อดูงบประมาณที่วางไว้แค่จำนวน 1,474.3 ล้านบาท มองไม่เห็นโอกาสที่จะพัฒนาและสร้างโอกาสประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้มีอาชีพ ไม่เห็นโอกาสที่จะสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่จะต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน
-แผนงานยุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กำหนดงบประมาณไว้แค่ 2,721.4 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับ SMEs เท่าที่ควร การที่จะส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs มีความสามารถในการแข่งขันและมีนวัตกรรมในการสร้างรูปแบบธุรกิจ ปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลต้องทุ่มเทอัดฉีดแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่ SMEs แต่กลับไม่ปรากฏในแผนงบประมาณครั้งนี้เลย
6.แผนงานยุทธศาสตร์จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ จำนวน 299.7 ล้านบาท ซึ่งน้อยมาก ทำให้ไม่น่าจะช่วยให้การขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ทำได้สำเร็จ 
7.แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว จำนวน 5,125.1 ล้านบาท เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว และมีอัตราการขยายตัวของการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ก็ไม่ปรากฏแผนงานที่ชัดเจน

“การพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณในวาระสองและสามทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมุ่งเน้นการจัดสรรงบประมาณโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เช่นการให้ความสำคัญกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำโดยสะดวก การเข้าถึงองค์ความรู้และตลาด บนพื้นฐานที่ว่า "ประชาชนต้องมีอิสระในการทำมาหากิน โดยสุจริตและยั่งยืน” นายนพดล กล่าว