ย้อนมหากาพย์ “จีที 200” 10 หน่วยงานรัฐซื้อ “วิธีพิเศษ” 848 เครื่อง 767 ล้าน
ย้อนมหากาพย์การจัดซื้อ “จีที 200” มีอย่างน้อย 10 หน่วยงานรัฐใช้ “วิธีพิเศษ” ซื้อ 848 เครื่อง รวม 767 ล้านบาท “กองทัพบก” มากสุด 12 สัญญา 757 เครื่อง 682.60 ล้านบาท
ประเด็นกองทัพบก (ทบ.) ว่าจ้างสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (จีที 200) จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 767 ล้านบาท โดยระบุเหตุผลว่า เป็นหลักฐานประกอบการเรียกค่าเสียหายแก่บริษัทผู้ผลิต จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นการว่าจ้างที่มีราคาสูง เพราะตก 10,000 บาท/เครื่อง
เบื้องต้นฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) โดยประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษก อสส. เปิดเผยผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ถึงประเด็นที่ ทบ.อ้างว่าส่งเรื่องถึง อสส.ให้พิจารณา โดย อสส.แนะนำว่าให้ ทบ. “ตรวจสอบ จีที 200” ทุกเครื่องนั้น ข้อเท็จจริงคือ ข้อแนะนำดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 แต่คดีนี้ ทบ.ชนะเอกชนเมื่อปลายปี 2564 ดังนั้นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่มีผลในทางคดีแล้ว
อ่านข่าว: อสส.แจงไทม์ไลน์คดี “จีที 200” ทบ.ชนะปี 64 ชี้การพิสูจน์ไม่มีผลทางคดีแล้ว
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ คงต้องรอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิสูจน์กันต่อไป
แต่ประเด็นที่หลายคนอาจยังไม่รู้ หรือลืมไปแล้วคือ มีหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 10 แห่ง ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเครื่อง “จีที 200” ระหว่างปี 2550-2553 โดยใช้วิธีพิเศษ เช่น การจัดซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต วิธีพิเศษ กรณีเร่งด่วน เป็นต้น
รวมอย่างน้อย 38 สัญญา 848 เครื่อง วงเงินไม่ต่ำกว่า 767 ล้านบาท ได้แก่
- กองทัพบก เป็นขออนุมัติจัดซื้อมากที่สุด จำนวน 12 สัญญา อย่างน้อย 757 เครื่อง วงเงิน 682.60 ล้านบาท
- กองทัพเรือ จำนวน 8 สัญญา อย่างน้อย 38 เครื่อง วงเงิน 39.30 ล้านบาท
- กองทัพอากาศ จำนวน 7 สัญญา อย่างน้อย 26 เครื่อง วงเงิน 20.89 ล้านบาท
- กรมราชองครักษ์ 3 สัญญา อย่างน้อย 8 เครื่อง วงเงิน 9 ล้านบาท
- สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม 3 สัญญา อย่างน้อย 6 เครื่อง วงเงิน 6.80 ล้านบาท
- สถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท จำนวน สัญญา อย่างน้อย 1 เครื่อง วงเงิน 550,000 บาท
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 1 สัญญา วงเงิน 1,230,000 บาท
- องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระแก้ว จำนวน 1 สัญญา อย่างน้อย 2 เครื่อง วงเงิน 2,380,000 บาท
- อบจ.สมุทรปราการ จำนวน 1 สัญญา อย่างน้อย 3 เครื่อง วงเงิน 1,800,000 บาท
- กรมศุลกากร จำนวน 1 สัญญา อย่างน้อย 6 เครื่อง วงเงิน 2,556,000 บาท
ข้อมูลจากฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประกอบกับข้อมูลจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า มีเอกชนเป็นผู้จำหน่าย “จีที 200” ให้หน่วยงานรัฐข้างต้นอย่างน้อย 3 ราย ได้แก่
- บริษัท Global Technical Limited อย่างน้อย 14 สัญญา จำนวน 58 เครื่อง วงเงิน 54.39 ล้านบาท
โดยบริษัทแห่งนี้เป็นเอกชนสัญชาติอังกฤษ จัดตั้งขึ้นเมื่อ 9 มิ.ย. 2540 (ค.ศ.1997) ล้มละลายเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 (ค.ศ. 2021) ตั้งอยู่ที่ 4 Mount Ephraim Road, Tunbridge Wells, Kent, United Kingdom, TN1 1EE โดยจัดส่งข้อมูลทางบัญชีล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2555 (ค.ศ. 2012)
- บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด อย่างน้อย 23 สัญญา จำนวน 789 เครื่อง วงเงิน 711.486 ล้านบาท
บริษัทแห่งนี้ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ จดทะเบียนตั้งเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2535 ทุนปัจจุบัน 473,372,800 บาท ตั้งอยู่ที่ 19 ถนนพหลโยธิน แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ประกอบกิจการ ขายอุปกรณ์สื่อสาร และรับจ้างซ่อมบำรุงรักษา
ปรากฏชื่อ นางนัทธภัทร คงเจริญ นายวิโรจน์ ภูมิศิริสวัสดิ์ นางมณฑิรา วัฒนกิจ เป็นกรรมการ
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 53,732,907 บาท รายจ่ายรวม 64,720,095 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 1,317,481 บาท ขาดทุนสุทธิ 12,304,669 บาท
- บริษัท ดีเพนเทค จำกัด อย่างน้อย 1 สัญญา (18 Card) วงเงิน 1,230,000 บาท (ณ วันที่ 6 มิ.ย. 2565 ตรวจสอบไม่พบข้อมูลบริษัทดังกล่าว)