"วิปรัฐบาล" จ่อเคลียร์ "ก้าวไกล" ก่อนดัน ร่างกม.คู่ชีวิต แทนสมรสเท่าเทียม
สุรสิทธิ์ บอก วิปรับบาล ยังไม่เคาะมติ จะรับหรือไม่รับหลักการ ร่างกม.สมรสเท่าเทียม ขอคุย "ส.ส.ก้าวไกล" ก่อน หวังให้เปลี่ยนใจ ดัน ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตแทน
นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาและมติของวิปรัฐบาลต่อ การลงมติต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.. หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ของนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและคณะเสนอ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับไปพิจารณาก่อนให้สภาฯ ลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ ว่า วิปรัฐบาลยังไม่ตกลงว่าจะให้รับหลักการหรือไม่รับหลักการ เนื่องจากต้องพูดคุยกับผู้เสนอร่างพ.ร.บ.อีกครั้งว่า สามารถพิจารณาใช้ร่างกฎหมายฉบับอื่น เช่น พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... ให้สมเจตนาได้หรือไม่ ทั้งนี้ในการพิจารณาของ รัฐบาล มองว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ให้บุคคลเพศเดียวกันสมรสกันได้มีประเด็นที่อาจมีผลกระทบในรายละเอียด อื่นๆ ที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“ในต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน มีกฎหมายที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่เขาออกเป็นกฎหมายฉบับใหม่ ดังนั้นหากจะมีกฎหมายที่ตราใหม่ โดยไม่แก้ไขกฎหมายหลักทั่วไป ซึ่งเป็นกฎหมายใหญ่และสำคัญ อย่าง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะพอเป็นทางออกได้หรือไม่ ส่วนตัวผมมองว่าการจะลงมติว่ารับหลักการหรือไม่ ต้องพูดคุยกันอีกครั้ง ในวันที่ 8 มิถุนายน หรือช่วงที่ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถึงลำดับพิจารณา” นายสุรสิทธิ์ กล่าว
นายสุรสิทธิ์ กล่าวด้วยว่าในการพิจารณาของพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นวิปรัฐบาล ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน คือ สนับสนุนให้รับหลักการ อีกส่วนมองว่าไม่ควรแก้ไขกฎหมายใหญ่ที่สำคัญ แต่ควรอออเป็นกฎหมายฉบับใหม่
เมื่อถามว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ครม. เห็นชอบ พรรคก้าวไกลไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะมองว่าเท่าเทียมไม่จริง นายสุรสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าความเท่าเทียมจริงนั้นไม่มี โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมรับรองความเป็นหญิงและชาย ไม่รองรับคนเพศเดียวกัน ทั้งนี้ความต้องการแก้ไข เพื่อให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ ส่วนตัวมองว่ามีรายละเอียดที่ต้องการ คือสิทธิประโยชน์ ของคู่สมรส ที่ต้องพิจารณารายละเอียดว่าจะสร้างภาระ หรือกระทบความมั่นคงหรือไม่ เช่น กรณีของข้าราชการ ที่มีสิทธิประโยชน์ของคู่สมรส ในด้านการรักษาพยาบาล หรือกรณีการรับบุตรบุญธรรมไว้อุปการะ หากรับเด็กต่างชาติ หรือ สมรสกับชาวต่างชาติ จะมีประเด็นเรื่องความมั่นคงหรือไม่ ดังนั้นต้องพิจารณาในรายละเอียดให้ถี่ถ้วน
เมื่อถามว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... จะได้พิจารณาในสภาฯ เมื่อใด นายสุรสิทธิ์ กล่าวว่า ครม. ลงมติในวันที่ 7 มิถุนายน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลานำส่งมายังสภาฯ และจะบรรจุเข้าสู่วาระในสัปดาห์ถัดไป.