4 ร่างกฎหมาย “คู่สมรส LGBT” ลุ้นวัดพลัง - ผลประโยชน์การเมือง
15 มิถุนายน วันชี้ชะตา "สมรสเท่าเทียม" ฉบับก้าวไกล จะสู้ และผ่านด่านรับหลักการของสภาฯ ได้หรือไม่ แต่งานนี้ดูเหมือนจะยาก เพราะ "รัฐบาล" เตรียมร่างกฎหมายคู่ชีวิต และกฎหมายพ่วง รวม 3 ฉบับ ให้สภาฯ รับหลักการแทนแล้ว
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ 15 มิถุนายน 2565 มีวาระที่ถูกจับตา การพิจารณาของ “ส.ส.” ว่าจะดันร่างกฎหมายเพิ่มสิทธิ “บุคคลเพศเดียวกัน" ได้สมรส และมีสิทธิได้รับประโยชน์ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายไทยรองรับหรือไม่
ไฮไลท์ถูกฉายไปที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่....) พ.ศ.... หรือ "ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม" เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ
เพราะเป็นฉบับที่ต้องลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ หลังจากเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ มติข้างมากของสภาฯ ให้ส่งร่างกฎหมายนี้ไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ตามที่รัฐบาลมีคำขอ ก่อนสภาฯ จะลงมติรับหลักการหรือไม่
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ ถูกตีปี๊บจาก “พรรคก้าวไกล” และสังคมผู้มีความหลากหลายทางเพศ ว่าเป็นร่างกฎหมายที่ก้าวหน้า รองรับ และให้สิทธิ “บุคคลที่เพศเดียวกัน” สมรสกันได้ตามวิถีเพศ หรือเพศสภาพ
ต่อมากลับปรากฏว่า บทสรุปของ ครม.ที่รับไปพิจารณาคือ “ไม่สมควรรับหลักการ” เพราะเห็นว่ายังมีประเด็นที่สร้างความกังวล คือ การแก้ไขตามข้อเสนอของพรรคก้าวไกลนั้น อาจนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมายอื่นที่เกี่ยวโยงกับการให้สิทธิประโยชน์ของคู่สมรส การรับมรดก ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง เรื่องทางปกครอง การรับบุตรบุญธรรม หรือประเด็นทายาท สิทธิของทายาท เป็นต้น
อีกทั้งในปัจจุบัน ครม.เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ.. ที่ให้สิทธิบุคคลเพศเดียวกันมีสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสต่างเพศ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดอยู่แล้ว
ดังนั้นในการลงมติตัดสินร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม "วิปรัฐบาล" เห็นด้วย และคล้อยตามที่ ครม.สรุป คือ “ไม่รับหลักการ"
อย่างไรก็ตาม การประชุมสภาฯ วันที่ 15 มิถุนายน นี้ ยังมีร่างกฎหมายที่มีหลักการคล้ายคลึงกันอีก 3 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ..., ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่ง 2 ฉบับนี้ ครม.เป็นผู้เสนอ และอีกฉบับคือ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... ที่เสนอโดย อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์และคณะ
โดยร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ มติวิปรัฐบาลให้รับหลักการไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ
หากดูสาระของร่างกฎหมายที่ฝั่งรัฐบาลเสนอ แม้จะมีเนื้อหาที่ให้สิทธิได้ไม่เท่า “ฉบับก้าวไกล” แต่สาระคือ ให้บุคคลเพศเดียวกัน ซึ่งอายุ 17 ปีขึ้นไป สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตกันได้ โดยให้สิทธิคนสัญชาติอื่น สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตกับคนที่มีสัญชาติไทยได้ พร้อมกับกำหนดให้นำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว มาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย
ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ ที่ ครม.เสนอต่อสภาฯ ในฐานะ “ร่างกฎหมายพวง” โดยแก้ไข 3 มาตราให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต คือ ข้อกำหนดการสมรสที่ห้ามชายหรือหญิงสมรส หากมีคู่สมรสหรือคู่ชีวิตอยู่ เพิ่มเหตุการฟ้องหย่า และบทสิ้นสุดการรับค่าเลี้ยงชีพหากคู่สมรสจดทะเบียนคู่ชีวิต
ส่วน ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับของ “พรรคประชาธิปัตย์” มีสาระสำคัญคือ เปลี่ยนให้ทุกเพศสามารถเป็นคู่ชีวิตกันได้ ไม่ใช่เฉพาะเพศเดียวกันเหมือนร่างของ ครม. โดยกำหนดนิยามคำว่า “บุคคล” แทน “บุคคลที่มีเพศเดียวกัน” ขณะที่สิทธิในคู่ชีวิต กำหนดให้ครอบคลุมกฎหมายฉบับอื่นที่รับรอง กรณีคู่สมรสชาย-หญิง
ทั้งนี้ ดร.อิสระ ระบุว่า จะเป็นทางออกของปัญหาความเห็นต่าง ระหว่างร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของรัฐบาล
ต้องจับตาว่า ท้ายที่สุดแล้วการพิจารณาของสภาฯ ต่อร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับจะเป็นประโยชน์กับ “บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” หรือสมประโยชน์เฉพาะ “ฝ่ายการเมือง”!
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์