สมรสเท่าเทียม ผ่านด่าน "รับหลักการ" -ก้าวไกล หลั่งน้ำตา ย้ำ เพื่อความเสมอภาค
สภาฯ โหวตรับหลักการ "ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" หลังอภิปรายกว่า 4 ชั่วโมง "ก้าวไกล" หลั่งน้ำตา ขอ "ส.ส." โหวตเพื่อความเสมอภาค - พร้อมรับหลักการร่างกฎหมายของรัฐบาล อีก 3 ฉบับ
เมื่อเวลา 11.50 น. การประชุมสภาฯ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯเป็นประธานการประชุม ได้เข้าสู่วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ... หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและคณะ , ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ.... , ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.. ซึ่ง ครม. เสนอ และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... ที่เสนอโดยนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์และคณะ
ทั้งนี้นายธัญวัจน์ นำเสนอหลักการยืนยันว่าการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องสิทธิ แต่คืนการทวงสิทธิที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศตามกฎหมายโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
ขณะที่ นายอิสระ นำเสนอหลักการว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของพรรคประชาธิปัตย์มีเนื้อหาที่แตกต่างจากฉบับที่ครม. เสนอ เนื่องจากฉบับของครม. ที่กระทรวงยุติธรรมยกร่างนั้น เป็นการเขียนเนื้อหาที่ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการเป็นคู่ชีวิตเป็นพลเมืองชั้นสอง และกำหนดให้เป็นบุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต แต่ฉบับของประชาธิปัตย์ คือการให้สิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสมรส เป็นคู่ชีวิตกันได้ จึงเป็นการให้โอกาสคนทุกคน ทุกเพศ ไม่เลือกปฏิบัติกับเพศใด มองคนเท่ากัน เลือกกระดับความสัมพันธ์กับทุกระดับความสัมพันธ์
จากนั้นได้เข้าสู่การอภิปรายของสมาชิก ซึ่งใช้เวลา กว่า 4 ชั่วโมง ทั้งนี้พบว่าการอภิปรายส่วนใหญ่ของส.ส.พรรคฝ่ายค้านสนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล และไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่ ครม. และพรรคประชาธิปัตย์เสนอ ขณะที่ส.ส.พรรครัฐบาล ให้ความเห็นในทิศทางตรงกันข้าม แม้จะยอมรับกับการให้สิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิตั้งสถาบันครอบครัว แต่คัดค้านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของการอภิปราย และเป็นการทำหน้าที่ของนายศุภชัย โพธิสุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง พบว่านายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่เป็นผู้อภิปรายคนสุดท้ายของฝ่ายค้าน ขออภิปรายพร้อมเปิดคลิปวีดีโอที่ระบุว่าสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภา เพื่อให้ส.ส.ฟังเสียงของประชาชน เนื่องจากทราบว่ามติของวิปรัฐบาลจะลงมติไม่รับหลักการ ทั้งนี้พบว่าไม่ได้รับอนุญาตจากประธาน
ทำให้นายณัฐพงษ์ต้องพูดด้วยเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอเบ้า ว่า “ผมเป็นส.ส.สมัยแรก มองว่า ระบบสภาที่ควบคุมด้วยวิป จะผ่านกฎหมายเพื่อประชาชนได้จริงหรือไม่ ผมไม่คิดว่า สมรสเท่าเทียมจะล้มด้วยมติวิปรัฐบาล ผมจึงไปอัดคลิปประชาชนเพื่อมาเปิดในสภาฯ แต่ประธานไม่อนุญาต ผมเคารพ ทั้งนี้ขอร้องสมาชิกวันนี้หากเลือกด้วยหลักเหตุผล ยึดประชาชน ไม่มีใครมองว่าเป็นความพ่ายแพ้ของรัฐบาล เพราะเป็นชัยชนะของประชาชน"
จากนั้นเป็นการอภิปรายสรุป โดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตอนหนึ่งพร้อมน้ำตาคลอเบ้าว่า "หากสภาฯ รับหลักการร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ถือว่าใจกว้าง และเป็นชัยชนะของประชาชนไม่ใช่ของพรรคใด ทั้งนี้ น้ำตาที่ไหลไม่ใช่ของธัญ แต่เป็นน้ำตาประชาชนที่รอ ส.ส.โหวต ขอฝากว่าสมรสเท่าเทียมคือกระดุมเม็ดแรกที่จะกลัดเพื่อความเสมอภาค”
และเมื่อเวลา 16.20 น. ที่ประชุมได้ลงมติแยกทีละฉบับ โดยผลปรากฎว่า
ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ... หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดยพรรคก้าวไกล สภาฯเสียงข้างมาก 210 เสียงรับหลักการ ต่อเสียงไม่เห็นด้วย 180 เสียง ไม่ลงคะแนน 4
ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ.... ซึ่ง ครม. เสนอ มติสภาฯ เสียงข้างมาก 222 เสียง รับหลักการ ต่อเสียงไม่เห็นด้วย 167 เสียง
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.. ซึ่ง ครม. เสนอ มติสภาฯ รับหลักการ ด้วยเสียง 230 เสียง ต่อ 169 เสียง
และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ มติสภาฯ เสียงข้างมาก รับหลักการ ด้วยเสียง 251 เสียง ต่อ 124 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง
จากนั้นได้ตั้งกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณาโดยเป็นคณะเดียวกัน อย่างไรก็ดีในขั้นตอนการเลือกว่าจะยึดร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับใดเป็นหลักในการพิจารณา ฝ่ายค้านเสนอให้ใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับของนายอิสระเป็นหลักเนื่องจากได้รับเสียงโหวตสูงสุด ทำให้ต้องลงมติตัดสิน ปรากฎว่าเสียงข้างมากให้ยึดร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยครม.
ทั้งนี้นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอต่อที่ประชุมว่า ในการพิจารณาของกมธ. แม้จะมีคณะเดียว แต่ต้องแยกการพิจารณา แยกเป็น 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ....