ถกเดือด จนต้องพักประชุม "ขจิตร" โวย ตัดสิทธิ"ตร."ชั้นผู้น้อย โหวตเลือกก.ตร.
รัฐสภา โหวตแก้ไข สิทธิเลือก ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ คืนเนื้อหาเดิม "ขจิตร" โวยลั่น เผด็จการครอบงำรัฐสภา ชี้มีปัญหากระทบมาตราอื่น "พรเพชร" ต้องแก้ปัญหาสั่งพักประชุม ก่อนกลับมาเดินหน้าต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญัญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งกรรมาธิกาาร(กมธ.) วิสามัญฯ ที่มี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ส.ว. ฐานะรองประธานกมธ. ทำหน้าที่ประธานกมธ. พิจารณาแล้วเสร็จ ในวาระสอง ต่อเนื่องในมาตรา 17 ซึ่งกมธ.มีการแก้ไขให้สิทธิข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย มีสิทธิเลือกกรรมการข้าราชการตำรวจ ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ โดยระบุถ้อยคำว่า ให้ข้าราชการตำรวจทั้งที่มียศและไม่มียศ ซึ่งตำแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับหมู่หรือเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้เลือก
อย่างไรก็ดีในการอภิปรายของกมธ.ที่สงวนความเห็น ระบุว่าในการแก้ไขมาตราดังกล่าวมีความพยายามที่จะแก้ไขให้กลับไปใช้เนื้อหาเดิมที่รัฐสภารับหลักการ
โดยนายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ฐานะกมธ. อภิปรายว่า เดิมการเขียนร่างกฎหมาย ที่ให้เฉพาะนายตำรวจใหญ่ 5,000 - 10,000 นายเป็นผู้เลือก ก.ตร. ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ตนเสนอให้แก้ไข ให้ข้าราชการตำรวจทั้งหมด ที่มีตัวตน อยู่ 2.1 แสนนาย และให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการเลือกตั้ง ซึ่งตามที่ประสานงาน กกต. ยินดีที่จะดำเนินการให้ ทั้งนี้เพื่อความเป็นประชาธิปไตย และผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร. จะมีความผูกพัน ทั้งนี้มีข่าวที่น่าเสียใจ มีกลุ่มบุคคลให้โหวตคืน ซึ่งตนสอบถามเพื่อนสมาชิกและวิปแล้วไม่ทราบว่าใคร เพื่อให้คนจำนวนน้อยดำเนินการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ในก.ตร.แทน
ทั้งนี้พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้แจงขอหารือก่อนการลงมติ 2 ประเด็น กมธ.ฯ เสียงข้างมากเพิ่มถ้อยคำ 2 จุด คือ กรรมการข้าราชการตำรวจสอดคล้องกับมาตราอื่นๆ เพื่อไม่ซ้ำซ้อนกับกรรมการตำรวจนโยบายแห่งชาติ และ ข้าราชการตำรวจทั้งที่มียศและไม่มียศ ที่ขยายสิทธิเป็นผู้เลือก ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ หากลงมติกลับสู่ร่างเดิม ถ้อยคำดังกล่าวจะมีผลกระทบ ดังนั้นต้องหาทางว่าจะให้คำ2คำอยู่ในร่างมาตรา 17 ส่วนการลงมติอย่างไรขึ้นอยู่กับสมาชิก
ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตจากคำพูดของพล.ต.อ.ชัชวาลย์ ว่า การลงมติจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อหา โดยคืนเนื้อหาเดิม จนกระทั่งถึงการลงมติ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก 255 เสียงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของกมธ. และให้กลับไปใช้ตามเนื้อหาเดิม ต่อ 147 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
อย่างไรก็ดี กมธ.เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยได้อภิปรายโต้แย้งและมองว่าจะทำให้การใช้กฎหมายในอนาคตมีปัญหาใหญ่ได้
โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะกมธ. อภิปรายว่า หากเนื้อหาของมาตรา 17 กลับไปตามร่างเดิม จะทำให้ถ้อยคำว่าการเลือกกรรมการข้าราชการตำรวจ เหลือเพียงการเลือกกรรมการเท่านั้น โดยอาจจะกระทบกับมาตราอื่น ที่มีการแก้ไขถ้อยคำ และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่
ซึ่งนายพรเพชร กล่าวว่าเป็นเรื่องกรรมาธิการ ปรึกษาหารือและแก้ไขตามกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา ตนตอบชี้แจงไม่ได้ เพราะจะชี้นำ และจะเป็นการโต้แย้ง สมาชิกรัฐสภา
จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณามาตรา 18 โดยนายพรเพชร กล่าวว่า มาตราา 18 มีการแก้ไข และจะกระทบกับมาตรา 17 ทั้งนี้ขอให้กรรมาธิการฯ พิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไร
แต่ก่อนจะเข้าสู่การอภิปรายของสมาชิก นายขจิตร ประกาศกลางห้องประชุมรัฐสภา ว่า ไม่ขออภิปรายตามที่สงวนไว้ และตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนครบวันนี้ ขออนุญาตหัวหน้าพรรคและวิป ไม่ร่วมสังฆกรรมกับการประชุมนี้ ที่บิดเบี้ยวทำให้เกิดปัญหา มติที่ผ่านไปในมาตรา 17 สะท้อนว่าอำนาจเผด็จการครอบงำรัฐสภาแห่งนี้
จากนั้นนายพรเพชร ได้สั่งพักประชุม เพราะมองว่ากมธ.ควรแก้ไข เนื่องจากมีประเด็นที่คาดไม่ถึง และกระทบมาตรา 18 เนื่องจากมีข้อความเชื่อมโยงกับมาตรา 17 เพราะมาตรา 18 เป็นวิธีการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลับมาประชุมอีกครั้ง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้แจงว่าจะเสนอแก้ไขในชั้นการผ่านวาระสองแล้ว เพราะสามารถแก้ไขถ้อยคำได้ก่อนลงมติวาระสาม แต่ถูกโต้แย้งจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านว่าไม่สามารถทำได้ เพราะถ้อยคำที่จะเพิ่มนั้นคือ เนื้อหา แต่การแก้ไขถ้อยคำหลังผ่านวาระสองนั้น หมายถึงการเติมคำตกหล่น เช่น และ , หรือ เป็นต้น
ทั้งนี้นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสนอให้พักการพิจารณาและให้กมธ.นำไปแก้ไขก่อนเสนอต่อรัฐสภาอีกครั้ง และระหว่างนั้นให้นำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.(ฉบับที่...) พ.ศ...พิจารณา หรือ หาวิธีเพื่อให้มีการลงมติใหม่เพราะอาจมีความสับสน แต่ถูกโต้แย้งและไม่มีใครเห็นด้วย
อย่างไรก็ดีในการหาข้อยุติดังกล่าว นายพรเพชร ระบุให้เดินหน้าการพิจารณาตามวาระ เข้าสู่การพิจารณามาตรา 18 ต่อไป