"ชัยวุฒิ" ชี้ ยกเว้น Capital Gain Tax เอื้อสตาร์ทอัพ เกิดมูลค่า ศก. 7.9 แสนล้าน
"ชัยวุฒิ" เผย มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax ตามมติ "ครม." เอื้อ สตาร์ทอัพไทย-เทศ ร่วมทุนด้านเทคโนโลยี เสริมสร้างเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกือบ 8 แสนล้าน
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการยกเว้นภาษี (Capital Gain Tax) เป็นเวลา 10 ปีแก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 24 เดือนตามที่ กระทรวงการคลัง โดย กรมสรรพากร เสนอซึ่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 750) พ.ศ.2565 (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.65 นั้น
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า การยกเว้นภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลในบางกรณี หรือที่เรียกว่าการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax ซึ่งในอดีตนักธุรกิจที่ลงทุนในบริษัท ห้างหุ้นส่วนต่างๆ เมื่อมีการขายหุ้นแล้วหุ้นมีกำไรก็ต้องมีการเสียภาษี Capital Gain 15% ซึ่งอันนี้เป็นภาระทำให้การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นได้ยาก เพราะไม่อยากเสียภาษีตัวนี้กัน ก็หนีไปลงทุนที่ต่างประเทศทำให้การลงทุนในด้านสตาร์ทอัพในประเทศไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันจึงได้มีการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษี Capital Gain Tax ซึ่งส่งผลดีต่อสตาร์ทอัพสัญชาติไทย นักลงทุนก็จะมาตั้งกองทุนที่เรียกว่า Venture Capital หรือVC เป็นธุรกิจร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจะเป็นธุรกิจสำคัญที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในประเทศไทยต่อไป
“จากการประเมินของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย คาดว่ามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ทอัพจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยมากกว่า 3.2 แสนล้านบาทภายในปี 2569 เกิดการจ้างงานเพิ่มกว่า 4 แสนตำแหน่ง และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7.9 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากการยกเว้นภาษีCapital Gain Tax” รมว.ดีอีเอส ระบุ
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง, สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) จะขึ้นทะเบียนกำหนดกฎเกณฑ์ว่า บริษัท ลักษณะไหนที่เป็นสตาร์ทอัพ ที่จะได้รับการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax เมื่อเรามีความชัดเจนเรื่องนี้มากขึ้น ต่อไปเราก็จะเหลือการลงทุนคณะลงทุนไทยและต่างชาติ ผ่านธุรกิจเงินร่วมลงทุน ที่เรียกว่า Venture Capital พอเงินลงทุนเหล่านี้เข้ามา ก็จะทำให้สตาร์ทอัพของสัญชาติไทยของเรามีการเติบโต มีเงินลงทุน สามารถพัฒนาธุรกิจให้แข็งแกร่งต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งก็จะสร้างความเข้มแข็งภาคเศรษฐกิจในประเทศเราต่อไป