"เรืองไกร" ยันไม่รับงานฝ่ายการเมือง ยื่นสอบ ญัตติซักฟอกรัฐบาล

"เรืองไกร" ยันไม่รับงานฝ่ายการเมือง ยื่นสอบ ญัตติซักฟอกรัฐบาล

"เรืองไกร" ชี้ ความผิดปกติของญัตติไม่ไว้วางใจ เข้าข่าย ปมที่ศาลรธน. เคยวินิจฉัย กรณีญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ยื่นให้ตรวจสอบ หากสภาฯ เดินหน้าอาจเข้าข่าย ทำหน้าที่ขัดม.151 ของรธน.

         นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการยื่นคำร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ของพรรคฝ่ายค้าน ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 วรรคหนึ่งหรือไม่ ว่า เพราะพบว่าเนื้อหาของญัตติมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หลังจากที่นำมาเปรียบเทียบกัน แต่การลงนามของส.ส.เหมือนเดิม  ทำให้ตนนึกถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18 /2556 ที่กล่าวถึงหลักการแก้ไขญัตติ แก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเพิ่มให้ ส.ว.ลงเลือกตั้ง ต้องทำใหม่หากจะแก้ไข ซึ่งในตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญตีตกญัตติ ด้วยกระบวนการไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคหนึ่ง (1) กรณีนี้จึงคล้ายกัน

 

           "ฝ่ายค้านไม่ได้มีการลงนามญัตติใหม่ หลังจากการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และยื่นต่อประธานสภาฯ ซึ่งไม่ใช่เจตนาของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่ลงนาม  จึงเข้าข่ายกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ หากฝ่ายกฎหมายสภาฯชี้ว่าญัตติถูกต้อง และเดินหน้าจัดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องนี้อาจจะเข้าข่ายการจงใจใช้หน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 151 หรือไม่ และเข้าข่ายจริยธรรมข้อ 8 เรื่องการยินยอมให้ผู้อื่นนำชื่อไปใช้ รวมถึงเข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่เป็นอำนาจ ป.ป.ช.ดำเนินการ ซึ่งตนจะยื่นร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านต่อไป" นายเรืองไกร กล่าว

        เมื่อถามว่าการยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ ถูกมองว่ารับงานจากฝ่ายการเมือง นายเรืองไกร ยืนยันว่า ไม่ได้รับงานใคร ไม่ว่าจะ ครม. หรือฝ่ายค้าน   ส่วนที่มีข้อสังเกตว่า อาจเป็นเกมยืดให้ญัตติฯเลื่อนออกไปจนหมดสมัยประชุม เพื่อให้ญัตติตกไปนั้น เพราะหากฝ่ายค้านจะแก้ไขและมีการยื่นญัตติใหม่ก็สามารถดำเนินการได้ทันในสมัยประชุมนี้ พร้อมกันนี้ ยังขอให้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ส่วนตนเองนั้น ยืนยันจะทำหน้าที่ในฐานะคนตรวจสอบ.