เดินหน้าจริงจัง ประหยัดพลังงาน
ครม. เห็นชอบ "มาตรการลดค่าครองชีพ" ให้แก่ประชาชน จากผลกระทบราคาน้ำมันแพงอย่างเร่งด่วน ในช่วงเวลา 3 เดือน ก.ค. - ก.ย. 2565 โดยออกมาตรการมาเยียวยาช่วยเหลือ 7 มาตรการด้วยกัน
สถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากสงครามราคาระหว่างรัสเซียและยูเครน เราต้องตระหนักและประเมินไปข้างหน้าว่า สถานการณ์เหล่านี้ เป็นปัญหาระยะยาวมากกว่าที่จะคิดว่าระยะสั้น ซึ่งหากผู้นำเชื่อแบบนี้ ย่อมที่จะมีวิธีคิดอีกแบบ เพราะสิ่งที่เราเห็นจากการขับเคลื่อนรัฐบาลในขณะนี้คือ "เยียวยา" และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งเป็นสิ่งที่พึงควรกระทำ
แต่สิ่งที่ควรคิดควบคู่กันไป แนวทางรับมือในระยะยาว โลกที่ต้องเผชิญ “วิกฤติพลังงาน” โจทย์เหล่านี้ จะหาทางออกกันอย่างไร โดยเฉพาะการคิดถึงพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานกันอย่างจริงจัง การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มสำหรับบุคคล องค์กร ที่ให้ความสนใจประหยัดพลังงาน หรือคำนึงถึงพลังงานทดแทน
ที่ต้องย้ำกันเช่นนี้ เพราะเห็นหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว กดดันไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มากเป็นพิเศษจนเบี่ยงแบน ข้อเท็จจริงที่ควรโฟกัสหรือหาทางแก้ จริงอยู่“บุคคล”เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่วิกฤติพลังงานที่เรากำลังเผชิญ ต้องใช้พลังทั้งสังคม ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีพลังงานแล้วจะตอบโจทย์สิ่งที่ถูกต้อง
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนจากผลกระทบประชาชนและภาคธุรกิจอย่างเร่งด่วนในช่วงเวลา 3 เดือน ก.ค. - ก.ย.2565 โดยเกี่ยวข้องกับปัญหาพลังงาน 7 มาตรการด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่ ยังเน้นเรื่องเยียวยา แต่มีวางแนวเรื่องประหยัดพลังงานไว้บ้าง ประกอบไปด้วย
1. การคงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และให้สิทธิ์ผู้ขับขี่แท๊กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน เพื่อซื้อในราคากิโลกรัมละ 13.62 บาท/กิโลกรัม ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 16 มิ.ย. - 15 ก.ย. 2565
2. กำหนดเพดานการขายปลีกก๊าซ LPG ถัง 15 กก. ตั้งแต่ ก.ย. - ก.ค. และการให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค่าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,500 คน ออกไปอีก 3 เดือน
3. ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้เงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน เดือนละ 100 บาทเท่าเดิมต่อไปอีก 3 เดือน
4. การช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นเกิน 35 บาทต่อลิตรในสัดส่วนครึ่งหนึ่งของราคาที่เกินเพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบมากเกินไป และคงค่าการตลาดหน้าปั๊มไว้ที่ 1.4 บาทต่อลิตร
5. ขอความร่วมมือจากโรงกลั่นน้ำมันในการส่งกำไรบางส่วนเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
6. การให้ความช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม และมาตรการที่
7.ขอความร่วมมือในการประหยัดพลังงาน โดยสนับสนุนมาตรการประหยัดพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชน