ผ่า “FORTH” หุ้นใหญ่ “ตู้เต่าบิน” กวาดงานรัฐ 5.5 พันล้าน คู่สัญญากองทัพเพียบ

ผ่า “FORTH” หุ้นใหญ่ “ตู้เต่าบิน” กวาดงานรัฐ 5.5 พันล้าน คู่สัญญากองทัพเพียบ

ผ่าถุงเงิน “FORTH” หุ้นใหญ่ “ตู้เต่าบิน” พบ 8 ปีหลังสุด กวาดงานภาครัฐไม่ต่ำ 170 สัญญา วงเงินกว่า 5.5 พันล้านบาท คู่สัญญา “3 เหล่าทัพ-ตร.” เพียบ

กรุงเทพธุรกิจ นำเสนอข้อมูลไปแล้วว่า “ตู้เต่าบิน” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีการขายเครื่องดื่มผสมสารสกัดกัญชา อาจเปิดช่องให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าถึงได้ ส่อขัดประกาศกระทรวงสาธารณสุข ทำให้มีการยกเลิกไปอย่างรวดเร็วก่อนหน้านี้

ปรากฏชื่อคนตระกูล “ชิดชอบ” 5 ราย ได้แก่ “ซ้อต่าย” กรุณา ชิดชอบ ภริยา “เนวิน ชิดชอบ” พร้อมด้วยลูก 4 ราย ได้แก่ ชิดชนก-ไชยชนก-ชนน์ชนก-โชติชนก เข้าไปร่วมถือหุ้นธุรกิจ “ตู้เต่าบิน” ด้วย

ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “FORTH” มี “เสี่ยเต่า” พงษ์ชัย อมตานนท์ เป็นเจ้าของ โดย “เสี่ยเต่า” เคยเป็นกรรมการองค์การเภสัชกรรม ยุคนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และเคยเป็นกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในยุคนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย

อ่านข่าว: 

เจาะ “พงศ์ชัย” หุ้นใหญ่ “เต่าบิน” วปอ.58 คอนเนกชั่น สัมพันธ์ลึก “ค่ายน้ำเงิน”

ผ่าอาณาจักร “ชิดชอบ” ใน “ตู้เต่าบิน” - “ซ้อต่าย-ลูก 4 คน” ถือหุ้น

สำหรับธุรกิจเครือ “ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น” ภายใต้บังเหียน “เสี่ยเต่า” นั้นมีอย่างน้อย 15 บริษัท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) โดยนำเสนอไปแล้วว่า บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซีสเต็ม จำกัด ในเครือ “FORTH” เป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐ 8 ปีหลังสุด (2558-2565) วงเงินกว่า 3.2 พันล้านบาท โดยเป็นคู่สัญญากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขาย-ติดตั้ง-บำรุงรักษากล้องวงจรปิด (CCTV) กว่า 1.2 พันล้านบาท

อ่านข่าว: เปิดตัว บ.จีเนียสฯ ธุรกิจ “เสี่ยเต่า” ติดตั้ง-บำรุง CCTV กทม. 6 ปี 1.2 พันล้าน

คราวนี้มาดูในส่วนของ “FORTH” ในฐานะ “บริษัทแม่” และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ “ตู้เต่าบิน” กันบ้าง

ฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 พบว่า บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “FORTH” เป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐ ระหว่างปีงบประมาณ 2558-2565 หรือ 8 ปีหลังสุด อย่างน้อย 170 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) รวมวงเงิน 5,544.76 ล้านบาท ดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2565 จำนวน 11 สัญญา รวมวงเงิน 482.02 ล้านบาท 

โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ซื้อเครื่องบินใช้งานทั่วไปขนาดเบา แบบที่ 3 ติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐาน พร้อมชิ้นส่วนซ่อมและบริภัณฑ์ภาคพื้น จำนวน 3 เครื่อง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยกองทัพบก วงเงิน 299.94 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564

  • ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 31 สัญญา รวมวงเงิน 1,206.01 ล้านบาท

โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาซื้อระบบสื่อสารวิทยุเฉพาะกิจ Trunked Radio Digital ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 787.33 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563

  • ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 31 สัญญา รวมวงเงิน 1,900.32 ล้านบาท

โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาเช่าโครงการการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวมาใช้เพื่อเป็นมาตรการทางเลือกแทนการลงโทษจำคุก ครั้งที่ 2 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม วงเงิน 848.25 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2563

  • ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 16 สัญญา รวมวงเงิน 532.79 ล้านบาท

โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างเหมาบริการบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไขและปรับเปลี่ยนโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษาฯ วงเงิน 254.55 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2562 

  • ปีงบประมาณ 2561 จำนวน 17 สัญญา รวมวงเงิน 631.27 ล้านบาท

โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาซื้อจัดซื้อพร้อมติดตั้งอุปกรณ์โครงข่าย IP Access Network (MPLS Router) ในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วงเงิน 312.23 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2560

  • ปีงบประมาณ 2560 จำนวน 13 สัญญา รวมวงเงิน 299.16 ล้านบาท

โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างจ้างเหมาตรวจซ่อม และบำรุงรักษาโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง แบบเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง รวม 12 เขต ระยะที่ 3 ระยะทาง 23,390 กิโลเมตร ระยะเวลา 3 ปี โดยแบ่งการจ้างออกเป็น 4 กลุ่มงาน (4 สัญญา) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดย กฟภ. วงเงิน 237.05 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2560

  • ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 10 สัญญา รวมวงเงิน 4.08 ล้านบาท

โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ซื้อระบบ CCTV จำนวน 1 ระบบ โดยวิธีพิเศษ โดย มทร.พระจอมเกล้าธนบุรี วงเงิน 3.30 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อ 27 ม.ค. 2559

  • ปีงบประมาณ 2558 จำนวน 41 สัญญา รวมวงเงิน 489.11 ล้านบาท

โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ซื้อสิทธิ์การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SAP โดยวิธีพิเศษ โดยวิธีพิเศษ โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) วงเงิน 221.66 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2557

สำหรับ “FORT” นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นมา พบว่า เป็นคู่สัญญากับ “กองทัพ-ตำรวจ” ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) หลายโครงการ เช่น 

ปีงบประมาณ 2565 นอกเหนือจากซื้อเครื่องบินใช้งานทั่วไปขนาดเบาของกองทัพบก ที่มีวงเงินกว่า 299 ล้านบาทแล้ว ยังมีโครงการจ้างฝึกนักบินและช่างอากาศยาน วงเงิน 37 ล้านบาทด้วย นอกจากนี้ยังมีโครงการของกองทัพอากาศอีก 2 โครงการ เป็นการจ้างเหมาซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์วิทยุดิจิทัล รวมวงเงินราว 14 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2564 มีการทำสัญญากับกองทัพอากาศหลายโครงการ รวมวงเงินไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท โดยโครงการที่มูลค่าสูงสุดคือ ซื้อระบบเครือข่ายการสื่อสาร พร้อมติดตั้ง ที่ ดอนเมือง จำนวน 1 ระบบ โดยวิธีคัดเลือก

ปีงบประมาณ 2563 มีการทำสัญญากับกองทัพเรือ เป็นโครงการจ้างซ่อมบำรุงเรดาร์ PSR/SSR และปรับปรุงระบบสื่อสารระยะประชิดสนามบินอู่ตะเภา โดยวิธีคัดเลือก วงเงิน 45.90 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2562 ทำสัญญากับกองทัพอากาศอย่างน้อย 1 โครงการ เป็นการซื้อระบบเข้ารหัสเครือข่าย WAN Encryption พร้อมติดตั้ง จำนวน 1 ระบบ โดยวิธีคัดเลือก วงเงิน 12.96 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2561 โครงการจ้างซ่อมบำรุงเรดาร์ PSR/SSR และปรับปรุงระบบสื่อสารระยะประชิดสนามบินอู่ตะเภา โดยวิธีคัดเลือก ของกองทัพเรือ วงเงิน 45.90 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2558 โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์ โครงการปรับปรุงระบบโทรศัพท์แบไอพีประจำสถานีตำรวจทั่วประเทศ ระยะที่ 3 ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) วงเงิน 59.39 ล้านบาท