24 มิ.ย. 2475 ไม่ใช่แค่ “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” แต่เคยเป็น “วันชาติ” ด้วย
เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คงรู้จัก “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” กันเป็นอย่างดี เพราะเมื่อ 90 ปีที่แล้ว เป็นวันที่ประเทศไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่หารู้ไม่วันเดียวกันนั้นก็เคยถูกยกให้เป็น “วันชาติ” อีกด้วย
วันที่ 24 มิ.ย. ของทุกปี ประเทศไทยเราถือว่าเป็น วันปฏิวัติสยาม อภิวัฒน์สยาม หรือ “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ซึ่งเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในช่วงเวลาย่ำรุ่งโดยกลุ่มคนที่เรียกว่า “คณะราษฎร” แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าในวันเดียวกันนี้เคยเป็น “วันชาติ” มาก่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้วันที่ 5 ธ.ค. แทนในปัจจุบัน
- วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
24 มิ.ย. ของทุกปี นับว่าเป็นหนึ่งในวันสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย หรือสยามประเทศในขณะนั้น นั่นก็คือ “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” เป็นวันที่ “คณะราษฎร” ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์เลยทีเดียว โดยแผนการเริ่มขึ้นในช่วงย่ำรุ่งหรือประมาณ 04.00 – 05.00 น. คณะราษฎรนำกองกำลังทหารบก ทหารเรือ รวมตัวกันบริเวณรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมกับอ้างว่าเป็นการสวนสนาม
แต่ทว่าหลังจากนั้น พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านคำประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่มีใจความเกี่ยวกับอำนาจในการปกครองแผ่นดินในเรื่องต่าง ๆ และรายละเอียดที่อธิบายถึงความเป็นประชาธิปไตย
แต่จะมีใจความอยู่ตอนหนึ่งที่เป็นถูกพูดถึงกันเรื่อยมา นั่นก็คือ
"ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง"
นอกจากนี้ผลที่ตามมาในทันทีหลังจากการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎรได้เริ่มจัดการเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ประชาชนชาวสยาม
พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวมีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2475 เมื่อเวลา 05.00 น. ซึ่งเป็นเอกสารร่างล่วงหน้าไว้แล้ว มีข้อความในรัฐธรรมนูญเริ่มต้นมาตรา 1 ระบุว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย"
- คณะราษฎร
เป็นการรวมกลุ่มกันของคณะนายทหารและพลเรือน เรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" เกิดขึ้นเพราะผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ
ซึ่งมีชื่อเรียกอื่นว่า สมาคมคณะราษฎร หรือต่อมาใช้ว่า สโมสรราษฎร์สราญรมย์ คณะราษฎรประกอบด้วยกลุ่มบุคคลผู้ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป
โดยเริ่มต้นจากปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย และประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ก่อนที่จะหาสมาชิกที่มีความคิดแบบเดียวกันเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่
- ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส
- ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส
- ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส
- ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส
- ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- จรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส
- แนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ
ซึ่งก่อนทำการปฏิวัติที่ประชุมมีมติว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน"
รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติรัสเซีย หลังจากการปฏิวัติเสร็จสิ้นแล้ว ได้มีการทำสัญลักษณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือหมุดทองเหลือง ที่มีข้อความสลักไว้ว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” ซึ่ง "หมุดคณะราษฎร" นั้นถือว่าเป็นหนึ่งในมรดกทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่คณะราษฎรทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง
- หมุดคณะราษฎร
เนื่องจากเพื่อเป็นที่ระลึกถึงจุดที่ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และอ่าน "ประกาศคณะราษฎร" ฉบับแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
ได้มีการนำหมุดกลมสีทองเหลือง ฝังลงบนพื้น กลางถนน ระหว่างฐานของพระบรมรูปทรงม้าและประตูทางเข้าอดีตกองบัญชาการทหารสูงสุด แต่ในปัจจุบันหมุดคณะราษฎรได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่ปี 2560
- วัดประชาธิปไตย
หรือชื่อในปัจจุบันคือ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญในคณะราษฎร รวมไปถึงบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ด้วย
- อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เป็นอนุสาวรีย์ที่ก่อสร้างโดยคณะราษฎร ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางและถนนดินสอ เพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็น "หลักกิโลเมตรศูนย์" ที่ซึ่งเป็นอ้างอิงในการวัดระยะทางจากกรุงเทพมหานคร
- อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
มีอีกชื่อหนึ่งว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ เป็นอนุสาวรีย์ที่เคยตั้งอยู่ที่วงเวียนหลักสี่ จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา
สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองนั่นก็คือการปราบกบฏบวรเดช ในสมัยพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีชะตากรรมเดียวกันกับหมุดคณะราษฎรเพราะปัจจุบันมีสถานะสูญหาย ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าถูกเคลื่อนย้ายหรือถูกทำลายไปแล้ว
- วันชาติในอดีต
นอกจากวันที่ 24 มิ.ย. จะเป็น “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” แล้ว ในอดีตวันนี้ยังมีอีกสถาะหนึ่งก็คือ “วันชาติ” หลังจากประเทศไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นผลให้คณะราษฎรมีอำนาจในปกครองประเทศ และยกฐานะให้วันดังกล่าวกลายเป็น “วันชาติ” ครั้งแรก เมื่อปี 2482
ด้วยความพยายามผลักดันของ พันเอก หลวงพิบูลสงคราม มีประกาศให้วันที่ 23 – 25 มิ.ย. เป็นวันหยุด มีการเฉลิมฉลองไปทั่วทั้งประเทศ ในทุกภาคส่วน และที่สำคัญสิ่งที่ประชาชนได้รับในงานเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรกคำคืออวยพรจาก “สถาบันพระมหากษัตริย์” ด้วย โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือรัชกาลที่ 8 ได้ส่งพระราชโทรเลขเพื่อทรงอวยพรประชาชนชาวไทยในวาระโอกาสวันชาติทั้งในปีแรกจนถึงปี 2484
เพราะหลังจากนั้นเกิดความไม่สงบบริเวณทวีปยุโรปทำให้การส่งโทรเลขเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ต่อมาในปี 2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยกเลิกวันชาติ 24 มิ.ย. และให้ถือเอาวันพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันชาติแทนโดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งในขณะนั้นตรงกับวันที่ 5 ธ.ค. และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิงข้อมูล : BBC NEWS Thai , ศิลปวัฒนธรรม , iNN LIFESTYLE