นายกฯ ชื่นชมนักวิจัยไทยเจ๋ง พัฒนาอุปกรณ์การแพทย์รับมือโควิด-19 ลดนำเข้า

นายกฯ ชื่นชมนักวิจัยไทยเจ๋ง พัฒนาอุปกรณ์การแพทย์รับมือโควิด-19 ลดนำเข้า

นายกฯ ชื่นชมนักวิจัยไทยเจ๋ง พัฒนาอุปกรณ์การแพทย์รับมือโควิด-19 ลดการนำเข้า เสริมศักยภาพประเทศสู่ Medical Hub

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค และสร้างความมั่นคงในระบบสาธารณสุข นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ติดตามผลงานการคิดค้นผลงานของคนไทยอย่างใกล้ชิด

ล่าสุดได้แสดงความชื่นชมต่อนักวิจัยที่ได้พัฒนาผลงานนวัตกรรมด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ การวินิจฉัยและการดูแลรักษา ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดสรรงบระมาณสนับสนุนในภาพรวม 3 พันกว่าล้านบาท
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ตัวอย่างผลงาน มีดังนี้
 
1. เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง (High Flow Nasal Cannula - HFNC ) มีต้นทุนการผลิตเครื่องละประมาณ 50,000 บาท ในขณะที่หากนำเข้า ราคาเครื่องละ 200,000 - 250,000 บาท จึงทำให้ประเทศลดการนำเข้าได้สูงถึง 150,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง ปัจจุบัน มีการส่งมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 500 เครื่อง ช่วยลดการนำเข้าและลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐกว่า 75 ล้านบาท เป็นผลงานวิจัยโดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หรือ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์) และบริษัทอินทรอนิกส์ จำกัด
 
2. ชุดตรวจโควิดด้วยวิธีแลมป์เปลี่ยนสี (RT-LAMP) นำไปติดตั้งใช้งานที่ด่านคัดกรองโรคที่สนามบินและโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งการตรวจคัดกรองแบบเร็วนี้ ให้ผลภายใน 1 ชั่งโมง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการคัดกรองโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนำไปสู่การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป มีการส่งมอบให้หน่วยงานภาครัฐและจัดจำหน่ายไปแล้วกว่า 260,000 ชุด มูลค่าประมาณ 65 ล้านบาท เป็นผลงานวิจัยโดย บริษัท Startup “Zenostic” มหาวิทยาลัยมหิดล
 
3. ชุดตรวจ “COVITECT-1” ด้วย Real-Time RT PCR ผ่านมาตรฐานสากล มีการส่งมอบชุดตรวจให้ภาครัฐมากกว่า 500,000 ชุด และส่งมอบให้กับประเทศสมาชิกในอาเซียนจำนวน 80,000 ชุด รวมถึงได้มีการจำหน่ายให้ห้องปฏิบัติการและโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยในปี พ.ศ. 2564 มียอดขาย ประมาณ 190 ล้านบาท ผลงานวิจัยโดยความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และบริษัทสยามไบโอไซน์ จำกัด 

4.หลอดเก็บเลือดอินโนเมด ปัจจุบันหลอดเก็บเลือดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีปริมาณการใช้งานสูง ผลิตภัณฑ์นี้พัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าและสามารถส่งออกต่อไปได้ โดยถูกออกแบบการใช้งานทดแทนการใช้หลอดเก็บเลือดจาก 2 หลอด เหมาะกับผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องเจาะเลือดบ่อยๆ และผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านการรับรองที่ได้มาตรฐานอย่าง ISO 13485 แล้ว  หากมีการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ผลิตขึ้นเองนี้จะช่วยลดการนำเข้าหลอดเก็บเลือดในแต่ละปี คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 2,700 ล้านบาท ผลงานวิจัยโดย ผศ.ดร.วันวิสาข์ ตรีบุพลชาติสกุล มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัท วี เมด แล็บ เซ็นเตอร์ จำกัด
 
“ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่ ปี 2562  เป็นต้นมา ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 500 กว่าล้านคน สำหรับประเทศไทย ในช่วงต้นเกิดการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ อุปกรณ์ วัสดุทางการแพทย์ที่ไม่สามารถนำเข้าหรือผลิตเองได้ทันตามความต้องการ นายกรัฐมนตรีจึงได้หารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปรับแผนบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ การวินิจฉัยและการดูแลรักษา เพื่อยกระดับประเทศไทยให้มีความพร้อมในการรับมือโควิด-19 และกว่า 2 ปีที่ผ่านมาของการทำงานอย่างทุ่มเทของนักวิจัยไทย ได้สร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์มากมาย เป็นเครื่องยืนยันของความสามารถคนไทย และความพร้อมต่อการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค” นางสาวรัชดา กล่าว