"ชัชชาติ" ถกสภาองค์กรผู้บริโภค พร้อมแจงแผนจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 2 ราคา
"ชัชชาติ" หารือสภาองค์กรผู้บริโภค จ่อทำรายละเอียดแจง หากเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 44 และ 59 บาท พร้อมทำราคาเปรียบเทียบสายอื่น
วันที่ 29 มิ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดี-รังสิต นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. หารือพร้อมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค (TCC) เรื่องราคารถไฟฟ้า โดยมี น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมคณะผู้บริหาร กทม. และผู้บริโภค ร่วมประชุม
น.ส.สารี กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับฟังปัญหาของผู้บริโภค ที่มีความยากลำบากในการใช้บริการรถไฟฟ้า โดยเฉพาะเรื่องค่าโดยสาร จึงขอให้ยกเลิก Hot Fix การเก็บค่าโดยสาร 59 บาทตลอดสายทันที แต่ขอให้ใช้หลัก 44 บาทตามสิทธิสัญญาสัมปทาน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเอกชน เช่น บีทีเอส ที่เดินรถอยู่ด้วย เพื่อเป็นต้นแบบให้รถไฟฟ้าสายอื่นๆรวมถึงขอให้แก้ไขสัญญาจ้างเดินรถ ให้สิ้นสุดพร้อมกันปี 2572 ซึ่งหากสามารถทำได้ หลังหมดสัญญาปี 2572 จะสามารถลดค่าโดยสารให้เหลือ 25 บาทได้ นอกจากนี้ ขอให้เปิดเผยสัญญาจ้างเดินรถที่เกินเลยสัญญาสัมปทานถึงปี 2585 ตลอดจนเปิดเผยร่างสัญญาสัมปทานของ กทม.ที่กำหนดราคา 65 บาท รวมทั้งขอให้นำตั๋วเดือนกลับคืนมา
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ค่าโดยสาร 59 บาท เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น ซึ่งกทม.จะต้องจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายทุกวัน และผู้บริโภคกลุ่มอื่นที่ไม่ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าต้องมารับภาระไปด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรม ดังนั้นจะต้องไปคำนวน หากจัดเก็บในราคา 59 บาท หรือ 44 บาท กทม.จะต้องสนับสนุนเท่าไหร่ หรือนำราคาค่าโดยสารทั้ง 2 ราคาไปเปรียบเทียบกับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นๆ เพื่อชี้แจงให้สภาองค์กรของผู้บริโภครับทราบ
ส่วนเรื่องตั๋วเดือน และตั๋วนักเรียน นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องมาคุยกันในรายละเอียด ขณะที่สัญญาการจ้างเดินรถทางกทม.ได้รับมาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณะชนได้หรือไม่ ทั้งนี้ การจ้างเดินรถ 2572-2585 มีการลงนามในสัญญาไปนานแล้ว ซึ่งในสัญญาเป็นกรอบที่ค้ำคออยู่ ทำให้ขยับตัวได้ยาก แต่จะพิจารณาหาแนวทางให้สัญญาที่ลงนามไปแล้ว ไม่ต้องถึงปี 2585
“จะรับข้อเสนอดังกล่าว โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหารือร่วมกับ นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด มหาชน (เคที) เพื่อหาข้อสรุป ส่วนหนี้ที่เดินรถจนถึงปัจจุบัน จะต้องพิจารณาค่าโดยสารให้รอบคอบก่อน รวมทั้ง พิจารณาว่าหนี้เป็นหนี้ที่มาอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมองว่า หากจะใช้เวลาก็ไม่ทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากจากเดิม” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนการหาแหล่งเงินมาจ่ายหนี้นั้น อาจจะหาแหล่งเงินกู้ แต่เท่าที่ทราบเอกชนจะมีดอกเบี้ยสูงกว่าภาครัฐ ดังนั้น จึงต้องคิดอย่างรอบคอบ และให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการแถลงข่าว นายวรัญชัย โชคชนะ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้ชูป้ายกระดาษและขอให้ยกเลิกประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทางด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า “ตนไม่ได้เป็นคนประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน” สร้างเสียงหัวเราะภายในที่แถลงข่าว พร้อมกล่าวอีกว่า “หากมีโอกาสจะลองพูดดู”