“ก้าวไกล” กังขารัฐบาล ปล่อยเครื่องบินรบ “เมียนมา” รุกน่านฟ้า “ไทย”
“ก้าวไกล” ออกโรงซัดรัฐบาล กังขาปล่อยเครื่องบินรบ “เมียนมา” รุกล้ำน่านฟ้าอธิปไตย “ไทย” คาใจเกี้ยเซียะ “มิน อ่อง หล่าย” หรือไม่ หลัง “แม่ทัพภาค 3” เคยไปร่วมประชุม จี้กองทัพตอบให้ชัด
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายคำพอง เทพาคำ นายองค์การ ชัยบุตร และนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลรับผิดชอบและชี้แจงเหตุการณ์เครื่องบินรบมิก-29 รุกล้ำน่านฟ้าของไทย บริเวณบ้านวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เป็นระยะเวลากว่า 20 นาที เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ผ่านมา
นายมานพ กล่าวว่า กรณีนี้มีประเด็นสำคัญ 3 ข้อ ที่รัฐบาลและกองทัพไทยต้องให้ความสำคัญและตอบคำถามต่อประชาชน
- ประการแรก
ในระยะเวลา 3 รอบ ที่มีการบินเข้ามารุกล้ำอธิปไตยและน่านฟ้าไทย ใช้เวลารวมกันนานถึง 20 นาที ต่างจากที่กองทัพอากาศชี้แจงว่าส่งเครื่องบินไปลาดตระเวนตอบโต้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่กองทัพมักประกาศตนเสมอว่า มีแสนยานุภาพและมีศักยภาพในการป้องกันความมั่นคงของประเทศเพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน แต่กลับปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุการณ์นี้ทำให้ต้องมีการอพยพนักเรียนและประชาชนในพื้นที่เข้าสู่หลุมหลบภัย หมายความว่า กองทัพได้ปล่อยให้พวกเขาอยู่ในความเสี่ยง โดยต่อมา มีการชี้แจงจากกองทัพไทยว่า การรุกล้ำน่านฟ้าของกองทัพเมียนมาร์ มีเหตุผลมาจากเขาไม่สามารถบินในพื้นที่เมียนมาร์ได้ เนื่องจากติดภูเขาและสภาพภูมิศาสตร์ จึงจะต้องบินอ้อมผ่านเข้ามาในประเทศไทย คำถามสำคัญที่มีต่อเหตุการณ์นี้คือ กองทัพไทยเปิดโอกาสให้กองทัพเมียนมาร์มีการบินเข้ามาเพื่อโจมตีกลุ่มผู้ต่อต้านโดยรุกล้ำน่านฟ้าไทยได้ถึง 3 ครั้งได้อย่างไร
- ประการที่ 2
มีข้อสังเกตว่า ก่อนมีการโจมตีดังกล่าว 1 วัน มีภาพของแม่ทัพภาคที่ 3 ประชุมพูดคุยกับผู้นำรัฐบาลเมียนมาร์ ที่ กรุงเนปิดอว์ จึงชวนให้สงสัยว่า มีการรู้เห็นเป็นใจปล่อยให้เครื่องบินรบของเพื่อนบ้านรุกล้ำอำนาจอธิปไตยไทยหรือไม่ ทั้งที่กองทัพมีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่กลับไม่มีการตอบโต้อย่างทันท่วงที ปล่อยให้รุกล้ำถึง 3 ครั้ง ใช้น่านฟ้าไทยปฏิบัติการทางทหารจนเสร็จสิ้นภารกิจ เวลาพูดถึงภัยความมั่นคง รัฐบาลและกองทัพไทยมักนำไปอ้างเพื่อจับกุมนักศึกษาและประชาชนและที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและจัดการอย่างรวดเร็ว แต่พอเวลาที่มีเหตุการณ์ซึ่งเป็นภัยความมั่นคงจริงๆ กลับล่าช้าและไม่มีท่าทีที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังน่าสงสัยว่าจะใช้เหตุนี้เป็นเหตุผลเพื่อซื้อเครื่องบินรบใหม่หรือไม่
- ประเด็นสุดท้าย
ในฐานะที่ไทยและเมียนมาร์เป็นประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศไทยควรมีบทบาทในการเสนอแนวทางยุติความรุนแรงผ่านเวทีอาเซียน เพราะตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่รัฐบาลมิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจจากพลเรือน ได้เกิดความรุนแรงมาโดยตลอดและลุกลามมาถึงแนวชายแดนไทย ตั้งแต่เชียงราย แม่ฮ่องสอน ไปถึงระนอง และส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนไทยในบริเวณนั้นอย่างมาก ทำให้ต้องเสี่ยงกับความไม่ปลอดภัยและอยู่อย่างวิตกกังวลเรื่อยมา ทั้งนี้ การล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยไทยแบบนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ก็เคยมีกระสุนที่ยิงตกมายังฝั่งไทยเช่นกัน แต่ที่ผ่านมากลับยังไม่เห็นท่าทีอย่างเหมาะสมในการปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และอธิปไตยจากรัฐบาลไทย นอกจากนี้ การใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทหารเมียนมาร์ยังส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัยสครามจำนวนมากอพยพมายังประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จึงขอเรียกร้องให้ กระทรวงมหาดไทยเปิดทางให้องค์กรต่างๆเข้าช่วยเหลือได้ตามหลักสิทธิมนุษยชน