3 วลีเชิงลบสุด Toxic ที่คนรวยและคนประสบความสำเร็จสูง จะไม่พูดกับตัวเอง
คนที่ประสบความสำเร็จสูงไม่เคยพูด 3 คำนี้กับตัวเอง นั่นคือ ฉันไม่คู่ควรกับความสำเร็จนี้, ฉันไม่เก่งเหมือนคนอื่น, ฉันจะไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง นักจิตวิทยาชี้ วลีเหล่านี้ Toxic ต่อการงานและชีวิต
KEY
POINTS
- ไม่ใช่แค่ทำงานเก่งแล้วจะประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ แต่ต้องฝึกทักษะ “ความฉลาดทางอารมณ์” ไปพร้อมกันด้วย รู้จักเพิ่มพลังเชิงบวก ขจัดความคิดและคำพูดเชิงลบออกจากตัวเอง
- นักจิตวิทยาเผย 3 วลีที่คนประสบความสำเร็จสูง ไม่เคยพูดกับตัวเอง ได้แก่ ฉันไม่คู่ควรกับความสำเร็จนี้, ฉันไม่เก่งเหมือนคนอื่น, ฉันจะไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง
- งานวิจัยชี้ว่า คนที่คิดแง่ลบอยู่เสมอ จะทำให้เกิดความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และส่งผลต่อความมั่นใจในระยะยาว
ใครๆ ก็อยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ไม่ใช่ว่าทำงานเก่งแล้วจะสำเร็จได้ง่ายๆ เพราะยุคนี้เราต้องพัฒนาชุดทักษะ (Skillset) หลากหลายด้านมากขึ้น เพื่อรับมือกับโลกการทำงานที่หมุนเร็วให้ได้ และอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามคือ การฝึกทักษะ “ความฉลาดทางอารมณ์” รู้จักเพิ่มพลังบวก ขจัดความคิดและคำพูดเชิงลบออกจากตัวเอง หากฝึกทำเป็นประจำก็จะช่วยให้ก้าวสู่ความสำเร็จได้ง่ายขึ้น
ยืนยันจากนักจิตวิทยาองค์กรอย่าง ‘อดัม แกรนต์’ (Adam Grant) ผู้ควบตำแหน่งศาสตราจารย์ใน Wharton School แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เขาบอกว่า คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงมักจะมีลักษณะร่วมกันบางอย่าง หนึ่งในลักษณะนิสัยที่พบได้บ่อยก็คือ พวกเขามักจะคิดเชิงบวกและมองโลกในแง่ดีเสมอ นั่นอาจเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการบรรลุเป้าหมายและก้าวสู่ความสำเร็จ
การบรรลุเป้าหมายสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ความรัก หรือการใช้ชีวิต ล้วนเป็นเรื่องยาก หากคุณบอกตัวเองอยู่เสมอว่าคุณทำไม่ได้ การพูดในแง่ลบกับตัวเองอาจส่งผลกระทบในระยะยาว มีงานวิจัยชี้ว่าคนที่คิดแง่ลบอยู่เสมอ จะทำให้เกิดความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และส่งผลต่อความมั่นใจในระยะยาว
แล้วความคิดหรือคำพูดแบบไหนล่ะ? ที่เป็นความคิดเชิงลบและเราไม่ควรพูดกับตัวเอง นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ได้รวบรวม 3 วลีเป็นพิษ (Toxic) ที่คนประสบความสำเร็จไม่เคยพูดกับตัวเอง พร้อมมีคำแนะนำมาให้ทราบกัน ดังนี้
Toxic 1: ‘ฉันไม่คู่ควรกับความสำเร็จของฉัน’
คริสตินา เฮเลนา (Christina Helena) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพูดในที่สาธารณะและวิทยากร TEDx อ้างถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ค้นพบว่า ผู้คนมากกว่า 80% เผชิญกับภาวะ “impostor syndrome” อาการผิดปกติทางจิตใจ มักรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยเก่งพอ ไม่มีค่า สงสัยในความสามารถของตน รู้สึกว่าความสำเร็จที่ได้มาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดการใช้คำพูดเช่น “ฉันไม่คู่ควรกับความสำเร็จของฉัน” หรือ “ฉันไม่คู่ควรกับสิ่งนี้”
วิธีแก้ไข: ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ถามตัวเองว่า ‘ทำไมเราถึงคิดว่าตนเองไม่สมควรได้รับสิ่งนี้’ หากได้คำตอบว่า เป้าหมายของเราไม่สอดคล้องกับแผนงานความสำเร็จของคนอื่น จงยอมรับความรู้สึกนั้นแล้วปล่อยมันไป
ความสำเร็จของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน สุดท้ายแล้ว คุณเป็นผู้ตัดสินใจว่าคุณสมควรได้รับสิ่งดีๆ ในชีวิตหรือไม่ และคุณรู้ดีว่าทุกวันนี้ทำงานหนักเพื่ออะไร ก็แค่ทำตามเป้าหมายของเราต่อไป
Toxic 2: ‘ฉันไม่เก่งเท่าพวกเขา ฉันเลยไม่ประสบความสำเร็จ’
ในโลกที่ผู้คนเผยแพร่เรื่องราวชีวิตอันหรูหราโดดเด่นของตนเอง บนโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด ขณะเดียวกันกลับไม่กล้าเปิดเผยความยากลำบากและความผิดพลาดของตนเอง เมื่อดูสิ่งเหล่านี้ซ้ำๆ บ่อยๆ ในทุกวัน คุณอาจเริ่มปักใจเชื่อว่าคนอื่นมีชีวิตที่ดีกว่าคุณ
บางครั้งคุณอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางเทียบชั้นกับคนเหล่านั้นได้ คุณอาจบอกกับตัวเองว่า “ฉันไม่เก่งเท่าพวกเขา” หรือ “ฉันคงไม่มีวันมีชีวิตแบบพวกเขาได้”
เอ็มมา เซ็ปปาลา (Emma Seppälä) อาจารย์สาขาการจัดการจากมหาวิทยาลัยเยล ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำเชิงบวก และความฉลาดทางอารมณ์ แนะนำว่า “แม้มันจะเป็นความจริงที่ว่าคุณไม่ได้สวย ตลก หรือสร้างสรรค์เท่าคนอื่น แต่แทนที่จะโฟกัสเรื่องพวกนั้น คุณควรโฟกัสที่คุณสมบัติที่คุณมีมากกว่า เช่น เรื่องตลกของคุณอาจฟังไม่เข้าท่า แต่คุณเป็นคนอบอุ่นและคนอื่นๆ ก็รู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ใกล้คุณ, แม้ว่าคุณจะพูดได้ไม่ถึงห้าภาษา แต่ทักษะการใช้สเปรดชีต Excel ของคุณนั้นไม่มีใครเทียบได้ ฯลฯ
วิธีแก้ไข: หากคุณต้องการค้นหาสิ่งที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับตัวเอง จงขอให้คนรอบข้างแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาชื่นชมในตัวคุณมากที่สุด การทำเช่นนี้จะเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับตนเอง และยังช่วยให้เห็นว่าตัวเรามีส่วนสนับสนุนต่อคนรอบข้างมากเพียงใด และพวกเขาชื่นชมในจุดเด่นของคุณมากเพียงใด
Toxic 3: ‘ฉันจะไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง นี่คือตัวตน ก็ฉันเป็นคนแบบนี้’
หากคุณคอยบอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า “ฉันจะไม่เปลี่ยนแปลง” หรือ “ก็ฉันเป็นคนแบบนี้” การทำแบบนี้แปลว่าคุณกำลังจำกัดตัวเองจากการเรียนรู้ คอร์ตนีย์ วาร์เรน (Cortney Warren) นักจิตวิทยาและนักเขียน อธิบายถึงพฤติกรรมดังกล่าวในเชิงจิตวิทยา
วาร์เรนเขียนไว้ในนิตยสาร Make It เมื่อปีที่แล้วว่า “คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ต่ำ มักจะยึดติดกับแนวคิดเดิมๆ และจะต่อต้านความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือพัฒนาตัวเอง จริงอยู่ที่ความเชื่อมั่นที่แน่วแน่เป็นสิ่งสำคัญ แต่การเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
วิธีแก้ไข: คราวหน้าหากคุณได้รับคำติชมจากเจ้านาย ซึ่งอาจกระทบกระเทือนจิตใจ วาร์เรนแนะนำว่าแทนที่จะโต้ตอบไปว่า ฉันจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ให้ลองใช้ประโยคที่ว่า “ฉันขอกลับไปคิดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณพูดสักพัก ฉันอยากเปิดใจรับฟังคำติชมนี้ แม้ว่ามันจะยากที่จะยอมรับก็ตาม”