4 นิสัยการทำงาน วัยทำงานต้องพัฒนาตนเองสู่เวอร์ชันที่ดีขึ้นก่อนสิ้นปีนี้
เปิดลิสต์ 4 นิสัยการทำงานที่ 'วัยทำงาน' ควรพัฒนาตนเองก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อพัฒนาตนเองสู่เวอร์ชันที่ดีขึ้นต้อนรับความท้าทายในปี 2025 อย่างมั่นใจ
KEY
POINTS
- หากวัยทำงานเริ่มพัฒนาพฤติกรรมการทำงานที่ดีตั้งแต่ตอนนี้ จะช่วยให้คุณมีทักษะใหม่ๆ มีสุขภาพกายใจที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะทำให้คุณเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า และช่วยให้รับมือความท้าทายในปีหน้าด้วยความมั่นใจ
- พนักงานออฟฟิศเป็นกลุ่มที่ใช้งานหน้าจอเป็นเวลานาน แต่การใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาในการนอนหลับ ปวดหัว ปวดคอและหลัง วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน และเสพติดโซเชียลได้
- หนึ่งในวิธีที่ช่วยปรับพฤติกรรมการทำงานให้ดีขึ้น ก็คือ การลดใช้งานหน้าจอต่างๆ ลดไถฟีดส่องโซเชียล พักจากการทำงานหน้าจอเป็นระยะๆ เพื่อไปพักสายตา ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และทำสมาธิเพื่อลดความเครียด
อย่ารอที่จะปรับปรุงหรือพัฒนาตนเองในตอนตั้งปณิธานปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ในเมื่อเราสามารถทำได้เลยก่อนสิ้นปีนี้ ไม่เพียงแต่คุณจะปิดท้ายปี 2024 ด้วยความภาคภูมิใจเท่านั้น แต่ยังเริ่มต้นปี 2025 ได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะวัยทำงาน หากคุณพัฒนาพฤติกรรมการทำงานที่ดีตั้งแต่ตอนนี้ จะช่วยให้คุณมีทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติมซึ่งทำให้คุณเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า และยังช่วยให้รับมือกับความท้าทายในปีหน้าด้วยความมั่นใจ
โช เดวาน (Sho Dewan) โค้ชผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพการงาน และซีอีโอผู้ก่อตั้ง Workhap อธิบายผ่านบทความของ Forbes ว่า การเริ่มต้นทบทวนและปรับปรุงตัวเองแต่ละปี เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในฐานะคนทำงาน แม้จะทำได้ยาก แต่หากเริ่มทำด้วยขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความตั้งใจ คุณก็จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในการทำงานได้ ทั้งช่วยเพิ่มผลงาน สร้างความสัมพันธ์ในการทำงานให้ดีขึ้น และบรรลุเป้าหมายในอาชีพการงานได้มากขึ้น
...และนี่คือ 4 นิสัยการทำงานที่ดีที่วัยทำงานสามารถเริ่มสร้างได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อการเติบโตทางอาชีพการงานในระยะยาว
ใช้เวลาหน้าจอในการส่องโซเชียลมีเดียให้น้อยลง
รู้หรือไม่? ผู้คนทั่วโลกใช้เวลาไถฟีดบนหน้าจอมือถือนานขึ้นเรื่อยๆ โดยมีข้อมูลจาก Explodingtopics ระบุว่า คนอเมริกันใช้เวลาหน้าจอเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 3 นาทีต่อวัน (รวมหมดทั้งหน้าจอสมาร์ทโฟน จอคอมพิวเตอร์ หรือจอแท็บเล็ต) ส่วนในประเทศไทยมีข้อมูลจาก กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ว่า ปี 2567 คนไทยส่วนใหญ่ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านหน้าจอต่างๆ นานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของเวลาตลอดทั้งวัน
โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศเป็นกลุ่มที่ใช้งานหน้าจอเป็นเวลานานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาในการนอนหลับ ปวดหัว ปวดคอและหลัง วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน และเสพติดโซเชียลได้ เพื่อปกป้องสุขภาพกายและจิตใจของคุณ แนะนำให้ลดเวลาหน้าจอลง โดยพักเป็นระยะๆ เพื่อยืดเส้นยืดสายหรือทำสมาธิ การอยู่ห่างจากหน้าจอยังช่วยให้คุณเพลิดเพลินกับเวลาว่างได้อย่างเต็มที่อีกด้วย โดยอาจหาเวลาว่างไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน เพื่อพักผ่อนจิตใจด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น เดินในสวน อ่านหนังสือ เขียนไดอารี่ และพูดคุยกับผู้อื่น สิ่งหเล่านี้ช่วยลดการใช้หน้าจอและปรับสมดุลชีวิตให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุม ควรหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ (เว้นแต่จำเป็น) เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนสมาธิ และถือเป็นการแสดงความเคารพต่อเพื่อนร่วมงาน ทั้งนี้มีการวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า การเขียนสรุปประชุมลงบนกระดาษช่วยให้จดจำได้ดีขึ้น ดังนั้น หากคุณกำลังจดบันทึกอะไรก็ตาม ลองใช้ปากกาและกระดาษแทนการจดข้อความด้วยแล็ปท็อป เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของคุณ รวมไปถึงควร “งดเช็กอีเมลนอกเวลางาน” เป็นอีกวิธีที่ช่วยสร้างขอบเขตที่เหมาะสมระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ดี
ควรฝึกฝนการฟังอย่างมีส่วนร่วมในระหว่างพูดคุยกับผู้อื่น
การฟังอย่างตั้งใจนั้นต้องใช้ความพยายามอย่างมีสติ แนะนำให้ฝึกการตั้งใจฟังผู้พูดอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะในระหว่างการประชุมหรือการเวิร์กช็อปใดๆ ก็ตาม ให้เราแสดงความสนใจและสนับสนุนให้พวกเขาแชร์เรื่องราวเหล่านั้นออกมาอย่างเต็มที่ โดยการสบตากับพวกเขา ยืนตัวตรง พยักหน้า หรือยิ้มให้พวกเขา แทนที่จะขัดจังหวะด้วยการพูดเรื่องของตัวเองสวนออกไป แต่ควรจดจ่อกับผู้พูดก่อนและถามคำถามของคุณหลังจากผู้พูดได้พูดจบแล้วเท่านั้น
อีกทั้งเรายังสามารถพูดสรุปในสิ่งที่พวกเขาพูดออกมา เพื่อให้ตัวเราและเขาฟังร่วมกันอีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด และยังแสดงให้เห็นว่าคุณเห็นคุณค่าในความคิดของเพื่อนร่วมงาน หากเพื่อนร่วมทีมของคุณประสบปัญหาในการทำงานบางอย่าง ให้แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยอาจจะใช้ข้อความเชิงบวก เช่น “ฉันเข้าใจคุณนะ” หรือ “มาคิดหาทางออกด้วยกันเถอะ” เป็นต้น การเสนอวิธีแก้ปัญหาและรับฟังคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ในเวลาเดียวกัน จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมของความไว้วางใจและทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น
ควรเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาทักษะใหม่ให้ตนเอง
วัยทำงานควรพัฒนานิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต พยายามเอาตัวเองออกไปสำรวจโอกาสใหม่ หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เสมอ ลองใช้เวลาว่างอ่านหนังสือ หรือฟังพอดแคสต์ หรือชมวิดีโอจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการศึกษาความรู้บางอย่างเพิ่มเติม การพัฒนาทักษะไม่ได้หมายความว่าต้องกลับไปเรียนหนังสือเสมอไป แต่ให้ใช้ประโยชน์จากหลักสูตรออนไลน์ฟรี หรือบทเรียนฟรีจากแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Coursera, Udemy หรือแม้แต่ YouTube
การลองทำงานหลายๆ สาขา ตั้งแต่การเขียนบทโฆษณา การออกแบบกราฟิก ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลและการเขียนโปรแกรม จะช่วยให้คุณได้เปรียบคู่แข่ง อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานของคุณ ขอคำติชมเพื่อเรียนรู้เทคนิคต่างๆ และแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์อื่นๆ ลองท้าทายตัวเองอยู่เสมอและตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง เช่น ก่อนสิ้นปี ให้ตั้งใจเรียนหลักสูตรออนไลน์ระยะสั้น 2 หลักสูตรให้จบ เป็นต้น
ฝึกแสดงความขอบคุณต่อผู้คนและสิ่งรอบตัว แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
บางครั้งเมื่อคุณรู้สึกเครียดกับงาน คุณก็จะลืมที่จะหยุดพักและขอบคุณทุกคนที่คอยอยู่เคียงข้างคุณ ดังนั้น ให้ลองฝึกการแสดงความขอบคุณต่อเพื่อนร่วมงานที่อยู่เคียงข้างคุณ ขอบคุณที่ปรึกษาที่เชื่อมั่นในศักยภาพของคุณ และขอบคุณเพื่อนที่คอยให้กำลังใจคุณเสมอ
อาจทำได้ด้วยการมอบของขวัญเล็กๆ น้อยๆ หรือแม้แต่กล่าวคำว่า “ขอบคุณ” ก็สามารถสร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงานได้แล้ว และอย่าลืม! ชื่นชมความก้าวหน้าของตัวเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปิดดีลสำคัญ การนำเสนอที่น่าประทับใจ หรือเพียงแค่การผ่านวันอันยากลำบาก คุณก็สมควรที่จะเฉลิมฉลองและยกย่องความสำเร็จของตัวเอง
แม้ตอนนี้จะเหลือเวลาแค่เดือนกว่าๆ ก็จะก้าวสู่ปีใหม่ 2025 แล้ว แต่คุณยังสามารถทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จได้หลายอย่างก่อนจะโบกมือลาปี 2024 อย่าลืมว่าให้เน้นที่การลดเวลาหน้าจอ ฝึกการฟังอย่างตั้งใจ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต่อไป และแสดงความขอบคุณต่อผู้คนรอบตัวคุณ แล้วเราทุกคนจะสามารถเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน