"กมธ.กม.ตำรวจ" นัดถกทางออก ข้อเสนอเว้นวรรคเกณฑ์ใหม่โยกย้าย "ตำรวจ"
"พล.ต.อ.ชัชวาลย์" นัด กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ถกนอกรอบ ปมข้อเสนอ "ปิยะ" เว้นวรรค 6 เดือนใช้เกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ มี2ทางเลือก ขอมติที่ประชุม หรือ ถอนร่างไปแก้ใหม่
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... รัฐสภา เปิดเผยว่า วันที่ 4 กรกฏาคม กมธ. ที่มีพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ส.ว. เป็นรองประธานกมธ. ทำหน้าที่ประธานกมธ. นัดประชุมกมธ. เพื่อหารือต่อประเด็นการเสนอแก้ไขมาตรา 169/1 ของร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... ตามที่ได้เสนอไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดียอมรับว่ามีประเด็นที่ต้องทำให้ยุติการประชุมก่อนจะพิจารณาทั้งฉบับแล้วเสร็จตามข้อตกลงเนื่องจากการเสนอแก้ไขเนื้อหามาตรดังกล่าว พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย ส.ว. ฐานะผู้ช่วยเลขานุการกมธ.ฯ นั้นยังไม่เป็นข้อยุติของกมธ. ทั้งนี้เนื้อหาที่เสนอไม่ใช่ประเด็นปัญหา แต่สิ่งที่ถูกโต้แย้งคือวิธีการเสนอ เนื่องจากการเสนอของ พล.ต.อ.ปิยะ เท่ากับเป็นการเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ แต่ไม่พบการขอสงวนคำแปรญัตติไว้ อีกทั้งข้อเสนอยังไม่ใช่มติของที่ประชุมกมธ.ฯ
เมื่อถามว่าข้อเสนอที่ยังไม่ผ่านกมธ.และถูกเสนอโดยเร่งด่วนในที่ประชุมมีใบสั่งจากไหนหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ยอมรับว่าข้อเสนอที่นั้นเป็นการรับข้อเสนอจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ฐานะผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้สิ่งที่ที่ประชุมรัฐสภาถกเถียงคือวิธีการเสนอว่าสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร โดยมีผู้มองว่าหากจะแก้ไขเนื้อหาต้องถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปก่อน และเสนอกลับมาใหม่ ทั้งนี้มีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะการเสนอกลับมาที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้งอาจต้องต่อท้ายร่างกฎหมายหลายฉบับ ขณะเดียวกันมีผู้เห็นว่าสามารถเสนอกับที่ประชุมได้ โดยต้องขอมติของที่ประชุมรับรอง อย่างไรก็ดีเพื่อให้เกิดความชัดเจน กมธ.จึงขอหารือนอกรอบอีกครั้งในวันที่ 4 กรกฏาคม ก่อนที่ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 5 กรกฎาคมนี้จะเสนอทางออกต่อที่ประชุมรัฐสภาต่อไป.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับบทบัญญัติที่ พล.ต.อ.ปิยะ เสนอเนื้อหาต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 1 กรกฏาคม ในคราวพิจารณา มาตรา 169/1 ใช้ถ้อยคำว่า
“ในวาระเริ่มแรกภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ การคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้บังคับอยู่ ในวันก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ในกรณีที่ไม่อาจนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาใช้บังคับได้ตามวรรคหนึ่ง ก็จะดำเนินการประการใดให้เป็นไปตามที่ ก.ตร. กำหนด ซึ่งต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.นี้”
โดยพล.ต.อ.ปิยะ เสนอคำอธิบายว่า เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้ง และไม่ใช้กฎหมายบังคับใช้โดยทันที ที่จะส่งผลให้ตำรวจที่มีสิทธิเลื่อนตำแหน่งตามกฎหมายเดิมจะถูกตัดสิทธิทันที แบ่งเป็นกลุ่มผู้บังคับการ 72 ราย รองผู้บัญชาการ 49 นาย รวม 121 นาย เกิดเป็นปัญหาการพรากสิทธิ์
"เนื่องจากในวาระเริ่มแรกนี้การย้ายข้ามหน่วย ข้ามภูมิลำเนา จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะชั้นประทวน และระดับรองสารวัตร ซึ่งมีเงื่อนไขการย้าย คือ ในทุกปีจะมีภาพรวมช่วงเวลาการแต่งตั้งที่จะมีระดับรองสารวัตรไม่น้อยกว่า 400 นาย ชั้นประทวน 3,000 กว่านาย ร้องขอกลับภูมิ แต่เงื่อนไขใหม่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาว่าจะรับหรือไม่รับก็ได้ แต่ตามกฎหมายเดิมจะเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ตรากตรำครบ 4 ปี จะหมุนเวียนให้กลับภูมิลำเนาได้” พล.ต.อ.ปิยะ ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 กรกฏคม.