"กมธ.กม.ตำรวจ" ถกไม่ลงตัว ปมเว้นวรรคใช้เกณฑ์โยกย้ายใหม่ นัดโหวตพรุ่งนี้
"สุพิศาล" เผย กมธ.พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ หารือกว่า4ชั่วโมง แต่ไร้ข้อสรุป เหตุมีข้อเสนอขึ้นใหม่ นัดโหวตอีกครั้งพรุ่งนี้ 09.00 น. ก่อนเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา
พล.ต.ต.สุพิศาล ภักกดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ..... รัฐสภา เปิดเผยถึงผลการหารือของกมธ. เพื่อแก้ปัญหาในรายละเอียดของมาตรา 169/1 ของร่างพ.ร.บ. หลังจากที่ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผบ.ตร. ฐานะกมธ. เสนอให้แก้ไขเนื้อหา เพื่อเว้นการบังคับใช้หลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามร่างกฎหมายดังกล่าวา ออกไป 180 วันเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการพิจารณาทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ว่า ที่ประชุมหารือตั้งแต่เวลา 10.00 - 14.00 น. โดยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากมีข้อเสนอของกมธ.ให้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของมาตรา 169/1 ใน 2 เนื้อหา คือ เนื้อหาของพล.ต.อ.ปิยะว่าด้วยการเว้นวรรคการบังคับใช้หลักเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายใหม่ และเนื้อหาที่ตนเสนอที่มีสาระสำคัญ คือ ในระยะ 5 ปี นับแต่วันที่ใช้บังคับกฎหมาย หากการคัดเลือก หรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับใดที่ไม่มีหลักเกณฑ์กำหหนดให้ ก.ตร. กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมา โดยไม่ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
“เหตุผลที่ผมเสนอเนื้อความในมาตราดังกล่าว เพราะ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร รองประธานกมธ.ฯ ระบุว่าตามข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อ 75 กมธ.สามารถทำได้ ดังนั้นผมจึงเสนอเนื้อหาให้ที่ประชุมพิจารณา เพื่อยืนยันการใช้หลักเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจมีผลบังคับใช้โดยทันที แต่หากมีปัญหาให้ ก.ตร.เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ขึ้นมาใช้ อย่างไรก็ดีเหตุที่ข้อเสนอทั้ง2ประเด็นไม่มีข้อสรุป เพราะองค์ประชุมกมธ.ไม่ครบ จึงได้นัดประชุมอีกครั้งวันที่ 5 กรกฏาคม เวลา 09.00 น. เพื่อให้เป็นมติเสียงข้างมากก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาให้ลงมติต่อไป” พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าว
พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวด้วยว่าที่ประชุมกมธ. ได้สอบถามเจตนารมณ์ของข้อเสนอของ พล.ต.อ.ปิยะ ซึ่งยอมรับว่าหากร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศและบังคับใช้ ซึ่งตามปฏิทินอาจจะใช้เป็นกฎหมายได้ในช่วงใกล้เคียงกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจช่วงตุลาคม ซึ่งอาจกระทบต่อการทำบัญชีโยกย้าย ข้าราชการตำรวจในพื้นที่ภาคใต้ได้ ดังนั้นจึงต้องเว้นวรรคการบังคับใช้หลักเกณฑ์ใหม่เพื่อไม่ให้มีผลกระทบ และเกิดการฟ้องร้องภายหลัง.