รัฐสภาถก2ชั่วโมง ถาม "กมธ.กม.ตำรวจ" เว้นวรรคใช้เกณฑ์แต่งตั้งใหม่ เอื้อใคร
รัฐสภา พิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ครั้งที่7 ใช้เวลากว่า 2ชั่วโมง ปม เนื้อหาที่กมธ.เสนอใหม่ เว้นวรรคใช้เกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายใหม่ พร้อมตั้งคำถามเอื้อใคร- ห่วงวิธีแก้ไขของกมธ. กระทบการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.มีการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุม ได้เข้าสู่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ที่กรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาพิจารณาแล้วเสร็จ ต่อเนื่องเป็นครั้งที่เจ็ด ซึ่งเหลืออีก 4 มาตราจะพิจารณาเนื้อหาเป็นรายมาตราในวาระสองแล้วเสร็จ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุม เริ่มต้นพิจารณามาตรา 169/1 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย ข้าราชการตำรวจแต่ละตำแหน่ง ในเนื้อหาที่ถูกโต้แย้งต่อการขอแก้ไขเนื้อหาให้ต่างไปจากรายงานของกมธ.ที่เสนอต่อสภาฯ ซึ่งกมธ. ได้ขอกลับไปหารือก่อนเสนอต่อรัฐสภา โดย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร ส.ว. ฐานะรองประธานกมธ. คนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่ประธานกมธ. ชี้แจงว่ากมธ.หารือรวม 2 รอบและได้ข้อยุติต่อการเสนอบทบัญญัติใหม่ให้ที่ประชุมพิจาณา ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติที่ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผบ.ตร. ฐานะกมธ.เสนอ
ทั้งนี้พล.ต.อ.ปิยะ ชี้แจงรายละเอียดในข้อเสนอที่ปรับเนื้อหามาตรา 169/1 ให้เป็นการเว้นการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือก หรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในระดับต่างๆ ตามกฎหมายใหม่ ออกไป 180 วัน โดยย้ำว่าเพื่อไม่ให้หลักเกณฑ์ตามกฎหมายใหม่มีผลกระทบต่อบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในระดับต่างๆ ที่ดำเนินการตามขั้นตอนมาแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนาย และเมื่อวันที่ 4 กรกฏาคมได้ประกาศบัญชีอาวุโสของตำรวจและเปิดรับฟังข้อโต้แย้งไปแล้ว
“วาระแต่งตั้งประจำปี ได้ดำเนินการไปแล้ว ต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อให้การคัดเลือกกประจำปีเรียบร้อยถูกต้องตามกฎหมายและกฎของ สตช. ที่มีอยู่ อีกทั้งจะมีผลกระทบต่อการวางแผนชีวิตรับราชการของข้าราชการตำรวจ ที่ต้องการย้ายกลับภูมิลำเนา หากใช้กติกาใหม่ที่มีเงื่อนไขเวลา อาจทำให้กระทบต่อการวางแผนรับราชการและครอบครัว ทั้งนี้ กฎ ก.ตร. มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเว้นการบังคับใช้ แต่กฎหมายหลักไม่มี จึงจำเป็นต้องเขียนเพื่อให้รักษาความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้ง” พล.ต.อ.ปิยะ อภิปราย
พล.ต.อ.ปิยะ ชี้แจงยืนยันว่าการเสนอบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีเจตนาแอบแฝงใด แต่เพื่อให้เป็นประโยชน์กับข้าราชการตำรวจทุกระดับ
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อกมธ.ชี้แจงเนื้อหาแล้ว พบบรรยากาศที่วุ่นวาย มีการประท้วงระหว่างสมาชิกและประท้วงการทำหน้าที่ของนายชวน โดยนายธีรัจชัย ประท้วงว่า กรณีที่กมธ.ฯ นำเนื้อหากลับไปทบทวนและแก้ไขมาใหม่ ขัดต่อกระบวนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นวิธีการที่ไม่ชอบต่อข้อบังตับ เนื่องจากที่ประชุมรัฐสภาไม่มีมติให้กมธ. นำกลับไปพิจารณา ทั้งนี้มองว่าการกระทำของกมธ.นั้นส่อเอื้อประโยชน์ให้คนบางคน ทำให้นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะกมธ.ฯ เสียงข้างมาก ชี้แจงยืนยันว่าการดำเนินการของกมธ.ถูกต้อง และขอนายธีรัจชัยอย่าใช้มโนคิดเอาเอง
ทำให้นายธีรัจชัยประท้วงให้ถอนคำพูดและระหว่างนั้นมีการตอบโต้จากนายสมชายซึ่งชี้นิ้วไปยังนายธีรัจชัย ทำให้นายธีรัจชัย บอกว่าไม่สุภาพ ไม่เหมาะสมกับวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่
ขณะที่นายชวนได้วินิจฉัยยืนยันว่าตามข้อบังคับของรัฐสภากมธ.มีสิทธิที่จะทบทวนเนื้อหาได้และในการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นเป็นอย่างอื่นจึงถือว่ามีมติให้กมธ.ทบทวน และมีมติที่เป็นข้อสรุปส่งให้สภาฯ พิจารณาาได้ ดังนั้นกระบวนการไม่ผิด แต่หากสมาชิกไม่เห็นด้วยต้องขอมติ และขอให้ดำเนินการอภิปรายต่อไปโดยไม่ให้นายธีรัจชัยอภิปรายอีก แต่นายธีรัจชัย ยืนยันจะขอใช้สิทธิชี้แจง ขอประธานทำหน้าที่ให้เป็นกลาง อีกทั้งมองว่าการตีความอย่างกว้างของข้อบังคับเพื่อให้สภาฯแก้ไขได้ทุกเรื่องไม่ถูกต้องในกระบวนการ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามีบุคคลใดอยู่เบื้องหลัง ให้กระบวนการพิจารณากฎหมายของรัฐสภาไม่ถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาต่อประเด็นดังกล่าวมีความเห็นที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทั้งที่สนับสนุนการแก้ไขของกมธ. และฝ่ายที่โต้แย้ง
ทั้งนี้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยกกับกมธ.ที่แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาดังกล่าว แม้จะมีการประชุมกันมา2 ครั้ง ว่า จะแก้ไขได้หรือไม่ ซึ่งมีความเห็นในกมธ.แตกเป็น 2 ฝ่าย และล่าสุดการประชุมเมื่อช่วงเช้าวันที่ 5 กรกฏาคม ลงมติเสียงข้างมาก 17 เสียงให้แก้ไขและเสนอข้อความใหม่ต่อสภา
“ผมมองว่าไม่ปกติ เพราะถ้าปกติ กมธ.ต้องถอนเนื้อหาออกไปก่อน แต่นี่ไม่ถอน ส่วนที่บอกว่า มาตรา 169/1 เดิมจะมีผลกระทบกับการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ที่ผ่านมา ตัวแทนของสตช. เข้าร่วมประชุมและรับรู้เนื้อหา รวมถึง สตช. เคยขอให้แก้ไข 14 จุด จึงถือว่ารับรู้มาตลอด จะอ้างว่าไม่รู้ข้อความไม่ได้ ดังนั้นตนมองว่ามาตราที่เสนอมาใหม่นี้ เกิดอะไรขึ้นกันแน่ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายในปีนี้ ที่บอกว่าหากร่างกฎหมายนี้ใช้วันถัดจากประกาศใช้ มีคนเสียประโยชน์ผมเชื่อว่าจะมีคนได้ประโยชน์เช่นกัน ทั้งนี้ข้อความที่เสนออผมมองว่าไม่ต้องแก้ไขก็ได้ เพราะมีมาตรา 170 เขียนด้วยหลักการเดียวกัน แต่หากจะเสนอเพื่อโยนความรับผิดชอบ ของ ก.ตร. เป็น สภาฯ เพราะสภาคุ้มครอง 180 วันให้ทำตามแบบเดิม ถือเป็นความผิดปกติที่อาจกระทบต่อกระบวนการนิติบัญญัติได้” นายสาทิตย์ ชี้แจง
ขณะที่ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน อภิปรายสนับสนุนนายสาทิตย์ และโต้แย้งกมธ.เสียงข้างมากที่เสนอข้อความเว้นวรรคการใช้กติกาใหม่ ว่าจะเอื้อประโยชน์กับบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายในปี เพราะเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในลำดับอาวุโส ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกชื่อว่าได้ตำแหน่งมาเพราะตั๋วช้าง จึงถือว่าเป็นประเด็นที่จะทำลายระบบยุติธรรมของการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เพราะไม่คำนึงถึงความอาวุโสตามที่ร่างกฎหมายกำหนด ทั้งนี้เนื้อความดังกล่าวอาจทำให้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อการกำหนดให้มีการปฎิรูปตำรวจ มาตรา 259 และมาตรา 260 ได้
ทั้งนี้ที่ประชุมใช้เวลาอภิปรายถกเถียงนานกว่า 2 ชั่วโมง ยังไม่มีการลงมติชี้ขาด.