อดีตเลขาฯศาลยุติธรรมแห้ว! ศาล ปค.สูงสุดยืนไม่รับฟ้อง ปมถูกสอบวินัยร้ายแรง
“สราวุธ” อดีตเลขาธิการศาลยุติธรรมแห้ว! ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนไม่รับคำฟ้อง ปม “ประธานศาลฎีกา” ตั้ง กก.สอบสวนวินัยร้ายแรง คดีปรับปรุงอาคารศาลพระโขนง 42.3 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ บ.271/2564 หมายเลขแดงที่ บ.188/2564 ระหว่างนายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการศาลยุติธรรม ผู้ฟ้องคดี กับประธานศาลฎีกา กับพวกรวม 5 คน เป็นผู้ถูกฟ้องคดี คดีพิพาทพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ของนายสราวุธ กรณีประธานศาลฎีกาตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง
โดยศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) ไม่รับคำฟ้องของนายสราวุธไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ศาลปกครองสูงสุด ให้เหตุผลว่า กระบวนการตั้งแต่การสอบสวนข้อเท็จจริง ได้เริ่มดำเนินการในขณะที่นายสราวุธดำรงดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลยุติธรรม และต่อเนื่องจากถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม จึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการทางวินัยที่สืบเนื่องกันตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวน พ.ศ. 2544
กรณีจึงถือได้ว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงตามคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ลับที่ 889/2564 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการของ ก.ต.ตามฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กรณีจึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ อุทธรณ์ของนายสราวุธ ฟังไม่ขึ้น
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และเมื่อศาลไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาแล้ว คำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาจึงไม่จำต้องพิจารณานั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม คลิกที่นี่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสราวุธ เมื่อครั้งเป็นเลขาธิการศาลยุติธรรม เคยถูกกล่าวหาในคดีการว่าจ้างปรับปรุงอาคารศาลพระโขนง วงเงิน 42.3 ล้านบาท เมื่อปี 2562 โดยพบว่ามีเอกชนเข้ามาปรับปรุงอาคารก่อนจะมีการว่าจ้างประกวดราคาอย่างเป็นทางการ ต่อมานายสราวุธไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานศาลยุติธรรม
หลังจากนั้นนายสราวุธถูกคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่ามีมูล จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง ก่อนสรุปความเห็นส่งที่ประชุม ก.ต. โดยที่ประชุม ก.ต. เห็นว่า นายสราวุธผิดวินัยร้ายแรง โดย ก.ต.มีมติ 8 ต่อ 7 เสียง ไล่นายสราวุธออกจากราชการ
ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2565 นายสราวุธได้เข้าสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ด้วย แต่เนื่องจากถูก ก.ต.ลงมติผิดวินัยร้ายแรง และถูกไล่ออกจากราชการ จึงถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง