เช็ค 4 แผน กทม. "ชัชชาติ" สั่งหน่วยงานเตรียมพร้อม รับผู้ป่วย "โควิด"

เช็ค 4 แผน กทม. "ชัชชาติ" สั่งหน่วยงานเตรียมพร้อม รับผู้ป่วย "โควิด"

เช็ค 4 แผน กทม. "ชัชชาติ" สั่งหน่วยงานเตรียมพร้อม รับผู้ป่วย "โควิด" เตือนประชาชนกลุ่ม 608 ฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด

วันที่ 8 ก.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) และผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการการเตรียมพร้อมของ กทม. 

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ในขณะนี้ยอดผู้ป่วยโควิดติดเชื้อใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีประมาณวันละ 2,000 คน แต่จำนวนเตียง และยายังสามารถรองรับสถานการณ์ปัจจุบันได้ สำหรับจำนวนนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด ยังอยู่ในภาวะที่โรงเรียนสามารถทำการเรียนการสอนแบบปกติได้อยู่ ผู้ป่วยเด็กเล็ก เด็กระดับปฐมศึกษายังมีจำนวนน้อย แต่ได้ให้โรงเรียนเตรียมพร้อมมาตรการไว้หมดแล้ว รวมถึงเตรียมพร้อมหากต้องมีการเรียนออนไลน์ ทั้งจัดทำชุดการบ้าน แบบฝึกหัดเพื่อจัดส่งให้นักเรียนถึงที่บ้าน หากพบคลัสเตอร์กลุ่มเล็ก อาจจะงดการเรียนเฉพาะกลุ่มหรืออาจจะสลับวันเรียนได้ ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา 

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อว่า รวมถึงขณะนี้ให้งดกิจกรรมกลุ่มใหญ่ทั้งหมด จะทำได้เฉพาะกิจกรรมกลุ่มเล็กและจัดในที่โล่งเท่านั้น ระบบการสื่อสารระหว่างครู ผู้ปกครอง บ้านและโรงเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และได้เตรียมไปถึงการจัดทำSchool Isolation กรณีที่มีนักเรียนติดเชื้อจำนวนมากและไม่มีอาการป่วย 

เช็ค 4 แผน กทม. \"ชัชชาติ\" สั่งหน่วยงานเตรียมพร้อม รับผู้ป่วย \"โควิด\"

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กทม.ได้เตรียมพร้อมศักยภาพสถานพยาบาลในสังกัดเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาจจะเพิ่มขึ้นมาอีกครั้งใน 2-3 วันข้างหน้า โดยเตรียมพร้อมทั้งระบบรับ-ส่งผู้ป่วยผ่านสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 การสำรองยา การเตรียมเตียง โดยในพื้นที่ส่วนกลางขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นทำให้โรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลตากสิน มีอัตราครองเตียงของผู้ป่วยหนาแน่น ดังนั้นผู้ป่วยที่อาศัยในพื้นที่ส่วนกลางของกรุงเทพฯ จะถูกส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาล กทม.รอบนอก ซึ่งพร้อมในการดูแลต่อไป

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ประชาชนตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อ หรือสงสัยว่าจะติดเชื้อให้ไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่หรือคลินิกอบอุ่นใกล้บ้าน เพื่อรับยาตามอาการ และกลับไปดูแลตัวเองที่บ้าน แต่หากเกรงว่าจะนำไปติดที่บ้านก็ต้องเตรียมพร้อม CI ทุกเขตที่เตรียมความพร้อมไว้ ก็ต้องพร้อมเปิดใช้งาน และเมื่ออาการหนัก ก็ให้โทรประสานสายด่วน1669 เพื่อประเมิน และนำส่ง รพ.ให้ ปัจจุบันอัตราการรอสาย 1669 อยู่ที่ 10 วินาทีต่อการรอสาย อาจจะมากกว่านี้แต่ขอให้ประชาชนอดทนรอ จะมีเจ้าหน้าที่รับสายแน่นอน จะเพิ่มเจ้าหน้าที่รับสายให้มากขึ้น หากเกิดการโทรเข้าระบบมากขึ้น

“ทุกโรงพยาบาลมีปริมาณยาเพียงพอ แต่ต้องบริหารจัดการเตรียมพร้อมยาให้มากกว่าปกติตามปริมาณการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย จะเป็นการเอายามารอผู้ป่วย ไม่ใช่ผู้ป่วยต้องมารอยา กทม.ต้องบริหารจัดการฉากทัศน์เหล่านี้ให้เสร็จ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการยาก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ามา ขณะนี้ กทม.พร้อมแล้วสำหรับจำนวนผู้ป่วยล่วงหน้า 3-5 วันแน่นอน ที่สำคัญใครที่ฉีดเข็มสุดท้าย 4 เดือนไปแล้วให้มาฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อลดความรุนแรงของโรค”ผศ.ดร.ทวิดา กล่าว

เช็ค 4 แผน กทม. \"ชัชชาติ\" สั่งหน่วยงานเตรียมพร้อม รับผู้ป่วย \"โควิด\"

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ในขณะนี้ น่าเป็นห่วง กลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนท้อง และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ซึ่งเมื่อติดแล้วอาการจะมีมากกว่าคนปกติ รวมถึงสถานการณ์ขณะนี้ หากเด็กหรือคนทำงานติดเชื้อจะนำเชื้อไปให้ผู้สูงอายุที่บ้าน ทำให้อัตราการครองเตียงมากขึ้น จึงได้มอบนโยบายให้เร่งดำเนินการ ดังนี้

1.พิจารณาการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิดในชุมชน (Community Isolation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนแออัด ซึ่งได้มอบรองผู้ว่าฯ ทวิดา เตรียมพร้อมในแต่ละเขตแล้ว โดยก่อนหน้านี้ใช้พื้นที่โรงเรียนแต่ขณะนี้โรงเรียนเปิดเทอมแล้วคงต้องหาพื้นที่ใหม่ต่อไป 

2.การเตรียมพร้อมเรื่องยา ซึ่งได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด และประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า โดยยาโมลนูพิราเวียร์สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิดยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน อย. ดังนั้น กทม.ยังไม่สามารถจัดซื้อได้ ต้องประสานผ่านทางกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น หากขึ้นทะเบียนแล้ว กทม.จะจัดซื้อเอง 

3.อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ซึ่งได้ประสานศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด หรือศบค.ใหญ่อย่างใกล้ชิด การเตรียมพร้อมศูนย์เอราวัณ ซึ่งขณะนี้ กทม.บริหารจัดการ 100% เนื่องจากส่วนกลางได้ถอนตัวออกแล้ว 

4.เตือนประชาชนกลุ่ม 608 ฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด โดยประชาชนกลุ่ม 608 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปแล้วกว่า 50% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของประเทศ  ถึงแม้วัคซีนไม่ช่วยเรื่องการติดเชื้อแต่จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้รวมถึงการใส่หน้ากากทั้งใน-นอกอาคาร จะช่วยเรื่องการติดเชื้อได้เช่นกัน 

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้มีข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมของ กทม. ซึ่งกิจกรรมจะยังดำเนินอยู่แต่ขอความร่วมมือให้ประชาชนที่มาร่วมงานใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา รวมถึงเมื่อโดยสารรถสาธารณะ และเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม และขอความร่วมมือทุกคน ไม่ได้เพื่อตนเอง แต่เพื่อคนที่เรารัก ทำทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน ทั้งใส่หน้ากากและฉีดวัคซีน ที่เหลือ กทม.จะดูแลให้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์