"นิด้าโพล" เผยปชช.รายได้น้อยกว่ารายจ่าย น้ำมัน-อาหารแพงกระทบการใช้จ่าย
"นิด้าโพล" เผยประชาชนส่วนใหญ่รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ชี้ราคาน้ำมัน-อาหารแพง สร้างผลกระทบการใช้จ่าย มากที่สุด
เมื่อวันที่ 10 ก.ค.65 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ปัญหาการใช้จ่ายของประชาชน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัญหาการใช้จ่ายของประชาชน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
เมื่อถามถึงรายได้ปัจจุบันของประชาชน พบว่า ร้อยละ 47.10 ระบุว่า รายได้ลดลง รองลงมา ร้อยละ 46.72 ระบุว่า รายได้เท่าเดิม และร้อยละ 6.18 ระบุว่า รายได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบรายได้กับรายจ่ายในแต่ละเดือนของประชาชน พบว่า ร้อยละ 60.06 ระบุว่า รายได้น้อยกว่ารายจ่าย รองลงมา ร้อยละ 32.62 ระบุว่า รายได้พอ ๆ กับรายจ่าย และร้อยละ 7.32 ระบุว่า รายได้มากกว่ารายจ่าย
เมื่อถามถึงการใช้จ่ายในปัจจุบันที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุด พบว่า
อันดับ 1 ร้อยละ 32.73 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
อันดับ 2 ร้อยละ 25.79 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านอาหารประจำวัน
อันดับ 3 ร้อยละ 13.47 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านไฟฟ้าในครัวเรือน
อันดับ 4 ร้อยละ 6.10 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านแก๊สหุงต้ม
อันดับ 5 ร้อยละ 3.36 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านการผ่อนชำระค่ารถ
อันดับ 6 ร้อยละ 3.18 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านน้ำประปา
อันดับ 7 ร้อยละ 2.79 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านการผ่อนชำระค่าบ้าน
อันดับ 8 ร้อยละ 2.32 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านอุปกรณ์หรือวัตถุดิบในการประกอบอาชีพ และการใช้จ่ายด้านการเรียนหนังสือของตนเองหรือบุตรหลาน ในสัดส่วนที่เท่ากัน
อันดับ 9 ร้อยละ 1.79 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านค่าเช่าที่อยู่อาศัย
อันดับ 10 ร้อยละ 1.56 ระบุว่า ไม่มีการใช้จ่ายใดที่สร้างผลกระทบ
อันดับ 11 ร้อยละ 1.50 ระบุว่า การใช้จ่ายด้านการโดยสารขนส่งสาธารณะ
ร้อยละ 3.05 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ การใช้จ่ายด้านหนี้สินนอกระบบ การใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ การใช้จ่ายด้านโทรศัพท์มือถือ การใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ต การใช้จ่ายด้านเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายและการใช้จ่ายด้านเคเบิ้ลทีวี และร้อยละ 0.04 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 8.61 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.30 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.99 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.53 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.57 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 13.26 มีอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.76 มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 19.28 มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.53 มีอายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.17 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.27 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.43 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.99 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.31 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 31.71 สถานภาพโสด ร้อยละ 64.94 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.20 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.15 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่าง ร้อยละ 27.74 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 34.76 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.83 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.33 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.04 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.30 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 8.92 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.08 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.49ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.27 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 17.00 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.36 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 4.50 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.38 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่าง ร้อยละ 20.81 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 23.55 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.19 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.30 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 3.66 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 5.72 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.77 ไม่ระบุรายได้