ตรวจเสียงโหวต “ศึกซักฟอก” “ธรรมนัส”พลิกขั้ว เอฟเฟกต์รัฐบาล?
การลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาลของ “ธรรมนัส” จึงไม่ส่งผลกระทบต่อ “ประยุทธ์-ขั้วรัฐบาล” เพราะที่ผ่านมาขั้วรัฐบาลแทบไม่นับ “ธรรมนัส-เศรษฐกิจไทย” อยู่ในสมการทางการเมืองอยู่แล้ว
เอฟเฟกต์จากความพ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อมเขต 4 ลำปาง สั่นสะเทือนพรรคเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง จน “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ต้องประกาศจุดยืนของพรรคให้ชัดว่า เลือกข้างฝั่งใด หากยังเลือกแทงกั๊ก ย่อมส่งผลเสียต่อการเลือกตั้งใหญ่ที่รออยู่
“ธรรมนัส” จึงเลือกถอนตัวออกจาก “พรรคร่วมรัฐบาล” โดยไฟเขียวให้ “ไผ่ ลิกค์” ส.ส. กำแพงเพชร และ “บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์” ส.ส. บัญชีรายชื่อ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ขอลาออกจากกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือวิปรัฐบาล
ก่อนที่ตัวของ “ธรรมนัส” จะออกมาคอนเฟิร์มว่า "จากนี้ไปพรรคเศรษฐกิจไทย เตรียมตัวไปทำงานร่วมกับฝ่ายค้านอย่างชัดเจนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยจะเข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อกราบลาในการที่จะออกจากพรรคร่วมรัฐบาล”
การถอนตัวจาก “พรรคร่วมรัฐบาล” ย่อมส่งผลต่อเสียงโหวตในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 19-22 ก.ค.นี้ ซึ่ง ส.ส. พรรคเศรษฐกิจไทย ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้มีอยู่ 16 เสียง ประกอบด้วย 1.เกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 2.ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 3. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา 4.สะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 5.บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6.จีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 7.พรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 8.ปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน
9.ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี 10.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 11.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 12.ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 13.ภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 14.ยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 15.สมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น 16.ณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์
ขณะที่จำนวนเสียง “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” เริ่มที่พรรคพลังประชารัฐ 100 เสียง (ตัด พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อออก) ทำให้เหลือ 99 เสียง โดยเสียงของพรรคพลังประชารัฐ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังคอนโทรลได้ทั้งหมด ไม่มีใครกล้าแตกแถว
พรรคภูมิใจไทย 65 เสียง การันตีโหวตสนับสนุนขั้วรัฐบาลอย่างแน่นอน ซึ่ง“เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยังตั้งใจโชว์โพยตัวเลข 260 เสียงการันตีให้ “ประยุทธ์” อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ ที่สำคัญเกมล้ม “ประยุทธ์” ไม่อยู่ในแนวทางของ เนวิน ชิดชอบ บิ๊กบอสของพรรค
พรรคประชาธิปัตย์ 51 เสียง โดยตามธรรมเนียมของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่เคารพมติพรรคอย่างเคร่งครัด หากมีมติไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ส.ส.พรรคจะไม่แตกแถว แต่ในช่วงที่ผ่านมา กลับเริ่มมี ส.ส.โหวตสวนมติพรรค เนื่องจากเกิดความเห็นแย้งกับ “ผู้บริหารพรรค” อย่างรุนแรง ซึ่งไม่เห็นด้วยตั้งแต่เข้าร่วม “รัฐบาลประยุทธ์”
โดย 2 รายที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อย่างแน่นอน คือ “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี “พนิต วิกิตเศรษฐ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้จำนวนของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ 51 เสียง หากตัด 2 เสียงจาก “อันวาร์-พนิต” จะเหลือ 49 เสียง
พรรคชาติไทยพัฒนา 12 เสียง พรรครวมพลัง 5 เสียง โดยทั้งสองพรรคมีเก้าอี้รัฐมนตรี จึงไม่มีปัญหาในการโหวตสนับสนุน “ขั้วรัฐบาล”
ส่วนพรรคเล็กที่ยังสนับสนุน “ประยุทธ์-รัฐบาล” มีดังนี้ พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง (อีก 1 เสียงแยกไปอยู่กลุ่ม 16) พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง (อีก 2 เสียงแยกไปอยู่กลุ่ม 16) พรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง
เมื่อนับรวมยอดทั้งหมดของ “ขั้วรัฐบาล” ที่จะโหวตสนับสนุน “ประยุทธ์-รัฐบาล” มีอยู่ในมือทั้งหมด 237 เสียง
อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทย มีเสียงจาก “ขั้วฝ่ายค้าน” มาเติมให้ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะงูเห่าจากพรรคก้าวไกล 4 เสียง ประกอบด้วย “คารม พลพรกลาง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ “พีรเดช คำสมุทร” ส.ส.เชียงราย “เอกภพ เพียรพิเศษ” ส.ส.เชียงราย “ขวัญเลิศ พานิชมาท” ส.ส.ชลบุรี
ทั้งนี้ ยังมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เตรียมย้ายเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย 7 เสียง ประกอบด้วย “จักรพรรดิ ไชยสาส์น” ส.ส.อุดรธานี “จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์” ส.ส.ศรีสะเกษ “ธีระ ไตรสรณกุล” ส.ส.ศรีสะเกษ “นิยม ช่างพินิจ” ส.ส.พิษณุโลก “ผ่องศรี แซ่จึง” ส.ส.ศรีสะเกษ “วุฒิชัย กิตติธเนศวร” ส.ส.นครนายก “สุชาติ ภิญโญ” ส.ส.นครราชสีมา
เมื่อรวมเสียงกับ “ขั้วรัฐบาล” ที่มีอยู่ในมือ 237 เสียง มาบวกกับ “ส.ส. งูเห่า” 11 เสียง จะทำให้ “ขั้วรัฐบาล” มีเสียงโหวตสนับสนุนอยู่อย่างน้อย 248 เสียง และอาจจะมีเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจาก “ส.ส. งูเห่า” ซึ่งจะต้องแสดงจุดยืนครั้งสุดท้ายตามโนติสของ “เนวิน-อนุทิน”
ด้าน “ขั้วฝ่ายค้าน” ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 133 เสียง พรรคก้าวไกล 51 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง พรรคเพื่อชาติ 6 เสียง พรรคปวงชนไทย 1 เสียง และพรรคไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง รวมทั้งหมด 209 เสียง หัก “ส.ส. งูเห่า” เหลือ 198 เสียง
เมื่อบวกรวมกับพรรคเศรษฐกิจไทย 16 เสียง และ “กลุ่ม 16” ที่เคลมกันว่า มีอยู่เกือบ 20 เสียง ประกอบด้วย พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 2 เสียง
พรรคพลังประชารัฐ 1 เสียง พรรคชาติพัฒนา 1 เสียง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง พรรคไทรักธรรม 1 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง พรรคประชาภิวัฒน์ 1 เสียง พรรคพลเมืองไทย 1 เสียง พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง พรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง พรรคเพื่อชาติไทย 1 เสียง
เมื่อนับรวม “พรรคเศรษฐกิจไทย-กลุ่ม 16” จะได้ 16 + 20 เท่ากับ 36 เสียง ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกับที่ “ธรรมนัส” ประกาศเอาไว้ว่าพรรคเศรษฐกิจไทย-กลุ่ม 16 มีทั้งหมดเกือบ 40 เสียง
หากนับรวมตัวเลข ส.ส. “ขั้วฝ่ายค้าน” 198 เสียง บวกกับ “พรรคเศรษฐกิจไทย” 16 เสียง และบวกกับ “กลุ่ม 16” 20 เสียง ทำให้เสียงของ “ขั้วฝ่ายค้านเฉพาะกิจ” จะมียอดรวมอยู่ที่ 234 เสียง ซึ่งยังไม่พอที่จะล้ม “ประยุทธ์-รัฐบาล” ซึ่งมีอยู่ 248 เสียง อยู่ดี
อย่างไรก็ตามต้องจับตา ส.ส. พรรคเศรษฐกิจไทย จะยังอยู่ร่วมกับ “ธรรมนัส” หรือไม่ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่ามี ส.ส. พรรคเศรษฐกิจไทย อย่างน้อย 3 คน เตรียมตัวกลับพรรคพลังประชารัฐ และมีอีกอย่างน้อย 5-6 คน เปิดดีลพรรคภูมิใจไทย
รวมถึง ส.ส. กลุ่ม 16 เมื่อ “ขั้วรัฐบาล” เปลี่ยนเกมมาใช้สูตรหาร 500 ทำให้พรรคเล็กมีโอกาสได้ ส.ส. มากขึ้น คงไม่คิดจะโหวตล้ม “ประยุทธ์” เพราะต้องการรอให้กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ก่อน หากโหวตล้มในตอนนี้ย่อมไม่เกิดผลดีอย่างแน่นอน
เสียงของ “ขั้วฝ่ายค้าน” บวกกับพรรคเศรษฐกิจ และกลุ่ม 16 อยู่ที่ 234 เสียง มีโอกาสจะลดลงมากกว่าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในการโหวตศึกซักฟอก “ขั้วรัฐบาล” ยังมีแต้มต่อมากกว่า
การลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาลของ “ธรรมนัส” จึงไม่ส่งผลกระทบต่อ “ประยุทธ์-ขั้วรัฐบาล” เพราะที่ผ่านมาขั้วรัฐบาลแทบไม่นับ “ธรรมนัส-เศรษฐกิจไทย” อยู่ในสมการทางการเมืองอยู่แล้ว