นายกฯ ตั้ง คณะกรรมการเฉพาะกิจ แก้วิกฤติราคาพลังงาน-สินค้า แพงต่อเนื่อง 1 ปี
สมช. ระบุ ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ นายกฯ เป็นประธาน แก้ วิกฤติเศรษฐกิจ ผลพวงความขัดแย้งระหว่างประเทศ กระทบราคา พลังงาน-สินค้า 1 ปี
19 ก.ค.2565 พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยถึง การแก้ไขปัญหาและการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ โดยสืบเนื่องจากการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสภาความมั่นคงและรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจที่ได้เชิญมาในวาระพิเศษเข้าร่วมการประชุม โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นฝ่ายเลขานุการ
ในที่ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การกดดันระหว่างคู่ขัดแย้งด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และการใช้นโยบายด้านการต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่อระบบเศรษฐกิจของโลก ของภูมิภาค และประเทศไทย ทั้งในปัจจุบันที่กำลังเป็นอยู่ หรือแม้ว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งจะยุติลงเมื่อใดก็ตาม
สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกในระยะ 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาราคาพลังงานและการขาดแคลนพลังงานจะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่ง ภาคธุรกิจ ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้น จนอาจกลายเป็นวิกฤติพลังงานและอาหาร
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงระบบการเงินการคลังของประเทศต่าง ๆ เป็นวงกว้างด้วย ถึงแม้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการและนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนมาเป็นลำดับ ประกอบกับการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวและการส่งออกอย่างเต็มที่ แต่ยังคงเป็นความท้าทายที่รัฐบาลต้องรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศให้น้อยที่สุด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ได้จากการประชุมหารือกับส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- เห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ และคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อบริหารสถานการณ์และกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ โดยบูรณาการการทำงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งภาคเอกชนและทุกภาคส่วน ให้สามารถแก้ไขและบรรเทาผลกระทบที่มีต่อประชาชนได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถกำกับติดตามและเร่งรัดการดำเนินการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เห็นชอบมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนแผนเตรียมความพร้อมรองรับวิกฤตการณ์ด้านพลังงานและอาหาร ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นไปพิจารณาเพิ่มเติมให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น และเป็นไปตามข้อสังเกตที่ได้จากที่ประชุมโดยเร่งด่วน
ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ และคณะอนุกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นรองประธาน รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจเป็นกรรมการ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ ส่วนคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเป็นอนุกรรมการ มีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
การทำหน้าที่ของคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว จะมีลักษณะเดียวกันกับคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มีการนำหน่วยงานทางเศรษฐกิจเข้ามาหารือและบูรณาการการทำงานร่วมกันในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ การให้ข้อเสนอแนะและความเห็นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การกำหนดแนวทางการบูรณาการและขับเคลื่อนมาตรการและกลไกต่าง ๆ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันเพื่อเร่งรัดให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งให้มีการกำกับติดตามและประเมินผลด้วย นอกจากนี้จะจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้กำหนดรายละเอียดและวิธีปฏิบัติตามห้วงเวลาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้จะมีการเชิญภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมในการดำเนินการด้วย
จะเห็นได้ว่า การจัดตั้งกลไกของคณะกรรมการฯ และ คณะอนุกรรมการฯ นี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจโลก การค้าการลงทุน พลังงาน อาหาร เงินเฟ้อ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้สามารถแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกันอย่างรวดเร็วและทันเวลา อย่างไรก็ตาม ยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน และประชาชนในทุกทางที่สามารถทำได้ เช่น การประหยัดพลังงาน หรือการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งการให้ข้อเสนอแนะมาตรการเพิ่มเติมแก่รัฐบาลเพื่อให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาในมิติทางเศรษฐกิจโดยตรงและในมิติที่เกี่ยวข้อง เช่น สังคม ความมั่นคง และผลกระทบจากปัญหาโควิดที่ยังไม่ยุติ
สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่เป็นข้อกังวลที่คณะอนุกรรมการฯ จะต้องใช้ฐานข้อมูลเดิมที่สภาความมั่นคงแห่งชาติรวบรวมไว้ และพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประเมิน วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน คือเรื่อง ราคาพลังงาน การประหยัดพลังงาน การควบคุมราคาสินค้า และมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียต่อเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว และคาดว่าท่านนายกรัฐมนตรีและรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ จะเรียกประชุมในเร็วๆ นี้
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก และรัฐบาลของทุกประเทศกำลังแก้ไขปัญหากันอย่างสุดความสามารถ รวมทั้งรัฐบาลไทยด้วย ในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนไทย และเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ทางหนึ่งที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ได้คือการประหยัดพลังงาน จะมีส่วนช่วยได้ทั้งภาพรวมของประเทศและตัวเราเองด้วย