แนวรบออนไลน์ “ฝ่ายค้าน” รุกฆาต “ฝ่ายรัฐ” หลังพิงฝา แบก 3 ป.
ที่สำคัญแนวรบออนไลน์ของฝ่ายเชียร์รัฐบาล ค่อนข้างอ่อนแอ ข้อเท็จจริงนี้เด่นชัดมาก เมื่อดูจากโพลที่สำรวจผ่านโลกออนไลน์ ไม่มีครั้งไหนเลยที่ฝ่ายรัฐบาล หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จะชนะ
ท่ามกลางสมรภูมิรบรอบสุดท้ายในสภา “ฝ่ายค้าน” เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 4 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พ่วงด้วย 10 รัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค. 2565 ลงมติ 23 ก.ค. 2565
โดยกูรูการเมืองหลายคนฟันธงว่า น่าจะเป็น “ศึกซักฟอก” ครั้งสุดท้าย เพราะครั้งหน้า ไม่น่าจะมีนายกฯชื่อ “บิ๊กตู่” อีกต่อไป
แต่มิใช่แค่แนวรบในสภาฯ ที่ฝ่ายค้านต่างขน “ขุนพล” มือดีจากพรรค ดาหน้าเปิดหลักฐาน-วาทกรรม อภิปรายถล่ม “รัฐมนตรี-นายกฯบิ๊กตู่” เพียงเท่านั้น แต่ “องคาพยพ” นอกสภาอย่าง “แนวรบออนไลน์” ต่างทำหน้าที่ดุเด็ดเผ็ดมันไม่แพ้กัน
ก่อนหน้าการอภิปรายไม่กี่วัน “พรรคเพื่อไทย” พี่ใหญ่ฝ่ายค้าน โชว์โปสเตอร์ที่ทำเลียนแบบการโปรโมทซีรีย์ดัง ภาพสวย องค์ประกอบศิลป์ลงตัว โหมโรงแคมเปญ “ยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน” เรียกเสียงฮือฮาจากโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก
การผลิตคอนเทนต์ดังกล่าวของ “พรรคเพื่อไทย” เป็นการรุกคืบโลกออนไลน์อย่างเต็มตัว หลังจากมีทีมงาน “คนรุ่นใหม่” เข้ามาร่วมงานด้วยจำนวนไม่น้อย ผ่านการควบคุมดูแลของ “คนใกล้ชิด” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” มาจาก “ค่ายสีส้ม”
ถัดมาถึงคิว “พรรคก้าวไกล” เปิดตัวโปสเตอร์ธีม “งานศพ” มาชำแหละ นายกฯ-10 รัฐมนตรี ภายใต้แคมเปญ “ตอกตะปูปิดตาย ทลายระบอบประยุทธ์” นำบรรดา ส.ส.แกนนำพรรคที่จะอภิปรายมานั่งพนมมือไหว้คล้ายฟังสวดศพ เรียกเสียงฮาสนั่นโลกออนไลน์
แฟนคลับหลายคนของ “ก้าวไกล” ค่อนข้างแปลกใจกับคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ช่วงหลัง แต่ส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของพรรคนี้อยู่ จึงไม่ได้หนีหายไปไหน
เบื้องหลังทีมสื่อสาร “ก้าวไกล” ต้องการ “ปล่อยของ” ที่เข้าถึง “ชาวบ้าน” เรียกเรตติ้งจาก “บ้านไม่มีรั้ว” ฐานเสียงสำคัญ “ค่ายสีแดง” หวังกลบจุดอ่อนสำคัญของพรรคในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาให้ได้
ดังนั้น แนวรบโลกออนไลน์ของ “ฝ่ายค้าน” มิใช่แค่พุ่งเป้าเพื่อโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ ดิสเครดิตรัฐบาลเพียงเท่านั้น แต่ต่างพรรค ต่างแย่งชิงฐานเสียงกันเองด้วย
ขณะที่แนวรบฝ่ายหนุน “รัฐบาล” สู้กลับ ด้วยการนำรูปนายกฯ พร้อมด้วย 10 รัฐมนตรีมาตัดต่อใส่โปสเตอร์ “No Time To Die พยัคฆ์ร้าย 008” โดยแต่ละคนมาในชุดสูทดำ โพสต์ท่าสุดเท่ เลียนแบบภาพยนตร์ชื่อดังในตำนานอย่าง “พยัคฆ์ร้าย 007” หรือ James Bond
ทว่า กลับถูกล้อเลียนอย่างหนัก เนื่องจากตามข้อเท็จจริงภาพยนตร์ พยัคฆ์ร้าย 007 ภาค No Time To Die เป็นภาคแรกในประวัติศาสตร์หนังชุด “เจมส์ บอนด์” ที่ “พระเอก” เสียชีวิตในหนัง ทิ้งหมายเลขประจำตัวอันเป็นตำนานไว้เบื้องหลัง
จนถูก “รังสิมันต์ โรม” นำมาตัดต่อซ้ำด้วยการนำฉากหนึ่งในภาพยนต์ Jame Bond 007 ภาค Casino Royale ที่พระเอกกำลังถูกมัดและทรมาน มาตัดต่อใส่หน้า พล.อ.ประยุทธ์ เรียกเสียงฮาครืนสนั่นโลกออนไลน์อีกเช่นกัน
ขณะที่เพจสนับสนุน “บิ๊กตู่” บางเพจผลิตคอนเทนต์เทียบผลงาน “โบว์แดง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ไม่เคยมีปัญหาเรื่อง “ทุจริต” เมื่อเทียบกับรัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา เป็นต้น
การโต้ตอบแบบเผ็ดร้อนในโลกโซเชียลมีเดียเช่นนี้ มิใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะแนวรบ “ฝ่ายค้าน” ที่ต่างมีเพจแฟนคลับของตัวเอง คอยตัดต่อรูป ผลิตคอนเทนต์ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัฐประหารปี 2557
เช่นเดียวกับ “ฝ่ายรัฐบาล” ที่มีแฟนคลับทำแฟนเพจ-ทวิตเตอร์ ผลิตคอนเทนต์ตอบโต้ฝ่ายค้าน รวมถึงอวยการบริหารราชการแผ่นดินเช่นกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์ คือเครื่องมือชิ้นสำคัญ ที่ถูกนำไปใช้ในทางการเมือง เพื่อสร้างภาพลักษณ์-ฐานเสียงแก่ตัวเอง หรือบางครั้งถูกนำไปใช้ในทาง “สีเทา ๆ” เช่น การบิดเบือนข้อเท็จจริงบางอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง บางครั้งถูกนำไปใช้เพื่อขยายความเกลียดชังทางการเมือง จนเป็นหนึ่งในปัญหาที่หยั่งรากลึกและยากจะแก้ในปัจจุบัน
ประเด็นที่น่าสนใจ ในการโหมโรงใส่ไฟก่อนการอภิปรายครั้งนี้ แฟนคลับ-เพจเชียร์ “รัฐบาล” จำนวนไม่น้อย ต่างออกโรงโพสต์ถี่มากยิ่งขึ้น เหมือนเป็นการ “ทิ้งทวน” ครั้งสุดท้าย เพราะนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาทำหน้าที่นายกฯ หน 2 เมื่อปี 2562 เป็นต้นมา ความนิยมของ “บิ๊กตู่” ลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย เห็นได้จากปรากฎการณ์ “แพ้เลือกตั้งซ่อม” หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา
ที่สำคัญแนวรบออนไลน์ของฝ่ายเชียร์รัฐบาล ค่อนข้างอ่อนแอ ข้อเท็จจริงนี้เด่นชัดมาก เมื่อดูจากโพลที่สำรวจผ่านโลกออนไลน์ ไม่มีครั้งไหนเลยที่ฝ่ายรัฐบาล หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จะชนะ
ดังนั้นจึงถึงเวลาเพิ่มแนวรบโลกออนไลน์ ปลุกกระแสความนิยม “บิ๊กตู่” ให้กลับมาอีกครั้ง เพราะยังมีคนจำนวนไม่น้อย ที่มิได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เน้นเสพข้อมูลจากโลกออนไลน์เป็นหลัก และพร้อมจะเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย ในสิ่งที่ตรงกับทัศนคติทางการเมืองตัวเอง
เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 หมุนด้วยเทคโนโลยี การสื่อสารด้วยช่องทางออนไลน์จึงสำคัญมาก
เหมือนที่สุภาษิตอังกฤษ บอกว่า “The pen is mightier than the sword.” หรือ “ปากกาทรงพลังกว่าดาบ” เพราะแผลจากดาบนั้นรักษาหายได้ แต่แผลจากความเชื่อนั้น เป็นอมตะ