ผ่าไส้ใน 2 บริษัทลูก “กคช.” ก่อน “จุติ” โดนซักฟอก “เคหะสุขประชา”

ผ่าไส้ใน 2 บริษัทลูก “กคช.” ก่อน “จุติ” โดนซักฟอก “เคหะสุขประชา”

ผ่าไส้ใน 2 บริษัทลูก “การเคหะแห่งชาติ” ก่อน “จุติ” โดนอภิปรายปม “เคหะประชาสุข” พบ บ.เคหะสุขประชา เพิ่งตั้ง มี.ค. 65 กคช.ถือหุ้น 100% อีกแห่ง CEMCO ธุรกิจอสังหาฯแต่กลับรับงานถมดิน มีทุนสอดไส้จาก “บริติชเวอร์จิ้นส์” ด้วย

ชื่อของ “โครงการเคหะสุขประชา” เป็นหนึ่งในโครงการที่กำลังถูกจับตามในศึกซักฟอกครั้งนี้

พลันที่พรรคก้าวไกล นำโดย “ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์” ส.ส.กทม. และรองเลขาธิการพรรค อภิปรายพุ่งเป้าถึง “จุติ ไกรฤกษ์” รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะกำกับดูแลการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ว่า เป็นโครงการที่ซ่อนเร้น ดำเนินการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือไม่

ทำเอาสภาลุกเป็นไฟ เมื่อ “ณัฐชา” และ “จุติ” ลุกขึ้นโต้ตอบกันดุเดือด ก่อน “จุติ” จะลุกเดินออกจากที่ประชุม โดยจะมาชี้แจงต่อสภาอีกครั้งในวันนี้ (20 ก.ค. 2565)

สำหรับประเด็นดังกล่าว “ณัฐชา” อธิบายว่า โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เป็นโครงการสร้างบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปีละ 20,000 ยูนิต เป็นเวลา 5 ปี โดยระบุเหตุผลว่า ในช่วงโควิด-19 คนไม่มีเงินซื้อบ้าน จึงควรยกเลิกโครงการสร้างบ้านขาย แล้วเปลี่ยนมาเป็นการสร้างบ้านเช่าราคาถูกแทน อย่างไรก็ดีโครงการนี้ถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นจากคนใน กคช. ที่มองว่าขณะนั้นยังมีบ้านการเคหะที่เหลืออยู่ และยังไม่มีคนเช่าอีกนับหมื่นยูนิต จึงไม่มีเหตุผลที่สร้างบ้านเช่าเพิ่มอีก 100,000 ยูนิต

“ณัฐชา” ยังอ้างถึงผลรายงานการศึกษาโครงการดังกล่าวในรอบแรก ระบุว่า ต้องใช้เวลานานถึง 200 ปี ถึงจะคืนทุน ทำให้มีการสั่งปั้นตัวเลขใหม่ วิธีแรกคือการลดต้นทุน จากเดิม กคช. ตั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นไว้ที่ 19% พอมาทำโครงการเคหะสุขประชา ก็ลดเหลือแค่ 10% ถึงกระนั้นเมื่อ คำนวณออกมาแล้วก็ยังต้องใช้เวลาถึง 25 ปีกว่าจะคืนทุน 

ด้าน “จุติ” ยืนยันว่า ข้อมูลบางส่วนของนายณัฐชามีความ “คลาดเคลื่อน” และจะชี้แจงข้อเท็จจริงแก่สภาต่อไป

อ่านข่าว: "จุติ" ปัดหนีแจง ซักฟอก อ้าง ไปเช็กข้อมูลอภิปราย พบ ผิดพลาดอื้อ ชี้ ต้องสู้กัน

รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล อภิปรายถึง 2 ตัวละครสำคัญที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เป็น “บริษลูก” ของ กคช. คือ 

1.บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) 
2.บริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด

มาทำความรู้จัก 2 บริษัทนี้กันบ้าง

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 พบว่า บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 ทุนปัจจุบัน 500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 111 ซอยเคหะร่มเกล้า 29 ถนนเคหะร่มเกล้า แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน ประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ เพื่อดำเนินธุรกิจให้เช่าและหรือจำหน่าย

ปรากฏชื่อกรรมการดังนี้

  1. นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ (ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ)
  2. นายจเรรัฐ ปิงคลาศัย
  3. นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์
  4. นายสุนทรสิงห์ วิทยปิยานนท์
  5. นายธำรงค์ ทองตัน
  6. นายเสนีย์ วัชรศิริธรรม
  7. นายชยงการ ภมรมาศ
  8. นางกลอยตา ณ ถลาง
  9. นางเสาวภาพ สุเมฆศรี
  10. นายธนินทร์ รัตนศิริวิไล
  11. นายพิชัย สีห์โสภณ
  12. นายพิษณุพร อุทกภาชน์

นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 21 มี.ค. 2565 (วันจดทะเบียนก่อตั้ง) มีการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 100%

ยังไม่มีข้อมูลงบการเงิน

บริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด หรือ CEMCO จดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2538 ทุนปัจจุบัน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 905 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด บริหารการจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์

ปรากฏชื่อกรรมการดังนี้

  1. นายธนัญชัย โชติศรีลือชา
  2. นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์
  3. นายสมพร สืบถวิลกุล
  4. นายพิษณุพร อุทกภาชน์
  5. นายสมบัติ อภิกุลวณิช

นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 มี

  • การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ถือหุ้นใหญ่สุด 49%
  • น.ส.สิริธรณ์ โกวิทกุล ถือ 15%
  • นายกิตติ อภิชนปัญญา ถือ 15%
  • บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถือ 10%
  • นายศรีสวัสดิ์ ศิริปุญโญทัย ถือ 5.5%
  • บริษัท เอสซีเอ็น แคปปิตอล จำกัด ถือ 5%
  • บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) ถือ 0.5%
  • ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ ถือ 0.0001%

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2564 มี

  • รายได้รวม 753,396,077 บาท
  • รายจ่ายรวม 732,128,297 บาท
  • ดอกเบี้ยจ่าย 2,858,989 บาท
  • เสียภาษีเงินได้ 4,478,140 บาท
  • กำไรสุทธิ 18,408,790 บาท

ในส่วนของเอกชน 3 รายที่เข้ามาถือหุ้น CEMCO ได้แก่

- บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยมีบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุด 99.0471% โดย “ทิพย กรุ๊ป” มี ปตท. ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

- บริษัท เอสซีเอ็น แคปปิตอล จำกัด เป็นธุรกิจของคนสกุล “เองตระกูล” ปรากฏชื่อนายสัณณ์ชัย เองตระกูล และ น.ส.สินีนารถ เองตระกูล ถือหุ้นใหญ่ คนละ 35.3333%

- บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) มีบริษัท เอฟเอ็นเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจการเงินของคนตระกูล “โภคาชัยพัฒน์” (มีนายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 37.03%)

- นายประทีป ตั้งมติธรรม ถือหุ้นรองลงมา 12.68%

- บริษัท ศุภาลัย พรอพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด ถืออยู่ที่ 8.73%

- บริษัท ซีพีดี โฮลดิ้ง จำกัด ถือ 5.54%

- WISDOM LEADER VENTURES LIMITED (ตั้งอยู่บนหมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้นส์ ประเทศอังกฤษ) ถือ 4.78%

- นายเอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ถือ 2.82%

- บริษัท บีซีเอช โฮลดิ้ง จำกัด ถือ 2.46% ที่เหลืออยู่ในชื่อคนตระกูล “มติธรรม” 
 
ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง พบว่า บริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด เป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐ ระหว่างปี 2562-2565 (4 ปีที่ผ่านมา) อย่างน้อย 49 สัญญา โดยส่วนใหญ่เป็นการว่าจ้างจากการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ทั้งการถมดิน การซ่อมแซมและปรับปรุงอาคาร ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมวงเงินอย่างน้อย 210 ล้านบาท ได้แก่

  • ปีงบประมาณ 2565 (ข้อมูลถึงวันที่ 20 ก.ค. 2565) จำนวน 10 โครงการ วงเงิน 34.73 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 33 โครงการ วงเงิน 174.31 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 894,200 บาท
  • ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 187,250 บาท
  • ส่วนระหว่างปี 2558-2561 ไม่พบข้อมูลการรับงานหน่วยงานของรัฐ

ทั้งหมดคือข้อมูลเบื้องต้น ประกอบการอภิปราย ส.ส.ณัฐชา ที่เปิดโปงบาดแผลในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประเด็นการตั้งโครงการ “เคหะประชาสุข” จนกลายเป็นเรื่องร้อนที่ “จุติ ไกรฤกษ์” ต้องออกมาชี้แจงอยู่ในตอนนี้