"ผู้นำ" ต้องฟังเสียงประชาชน บทเรียนจาก "ศรีลังกา"
วิกฤติ "ศรีลังกา" ไม่เพียงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการเศรษฐกิจและการเมือง แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ดังไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่สะท้อนว่า "ผู้นำต้องฟังเสียงประชาชน"
ในโอกาสที่สภาผู้แทนราษฎรเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 วันนี้ (22 ก.ค.) เป็นวันสุดท้ายก่อนลงมติในวันที่ 23 ก.ค. รอบนี้พิเศษตรงที่เครือข่ายภาคประชาชนเปิดให้มีการลงมติออนไลน์คู่ขนานไปด้วย แม้แนวโน้มฝ่ายรัฐบาลชนะโหวตในสภาแน่นอนแต่เสียงโหวตนอกสภาย่อมละเลยไม่ได้เพราะนั่นคือเสียงประชาชน ผู้นำที่ไม่ฟังเสียงประชาชนมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว ล่าสุดไม่ใช่ใครอื่นเขาคือ "อดีตประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา" จากศรีลังกา
เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง "ศรีลังกา" สื่อไทยและสื่อนอกรายงานกันจนปรุ แต่ถึงบัดนี้ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ มีบทเรียนที่ไทยควรเรียนรู้โดยเฉพาะเรื่องการเมือง เริ่มต้นจากตระกูลราชปักษาที่ครอบงำการเมืองศรีลังกามาตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาเบื้องต้นที่ทุกคนโฟกัสคือการเมืองแบบพวกพ้องอย่างที่พบเห็นในหลายประเทศแถบเอเชีย
คนใน "ตระกูลราชปักษา" ครองตำแหน่งสำคัญทั้งภาคการเมืองและภาคราชการ ที่เป็นเช่นนี้ได้อานิสงส์จากการมีบทบาทสำคัญของคนในตระกูลต่อการปราบกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมสิ้นสุดสงครามกลางเมือง ศรีลังกาเข้าสู่ความสงบสุขในปี 2552 แต่ประเด็นสำคัญต่อไปคือคนเราไม่ได้เก่งไปทุกเรื่อง ไม่ได้เก่งตลอดกาล เมื่อโลกเปลี่ยนสถานการณ์เปลี่ยนปัญหาเปลี่ยน
ปัญหาหลัก ณ ปัจจุบันของศรีลังกาคือการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเพื่อนำมาซื้อหาสินค้าจำเป็นอย่างน้ำมัน อาหาร เวชภัณฑ์ เมื่อรัฐบาลตอบสนองความต้องการของประชาชนไม่ได้แล้วจะอยู่ไปทำไม หลายเดือนก่อนประชาชนออกมาประท้วงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษาลาออก รัฐมนตรีหลายคนรวมถึงพี่น้องในตระกูลลาออกแล้วแต่ประธานาธิบดี "ไม่ลาออก"
จนสุดท้ายประชาชนลุกฮือบุกยึดทำเนียบที่พัก ประธานาธิบดีและภริยาพร้อมด้วยบอดี้การ์ดอีกสองคนต้องหนีไปมัลดีฟส์จากนั้นมุ่งหน้าต่อสิงคโปร์ แล้วจึงค่อยยื่นใบลาออก ด้วยเกรงว่าถ้าลาออกตอนยังอยู่ในประเทศแล้วเสียเอกสิทธิ์คุ้มครองอาจถูกจับกุมได้
ถึงตอนนี้ "รานิล วิกรมสิงเห" นายกรัฐมนตรีหกสมัย รักษาการประธานาธิบดีตอนที่ราชปักษาหนีออกนอกประเทศ ได้รับเลือกจากสภาให้เป็น "ประธานาธิบดีคนใหม่" แต่ปัญหายังไม่จบเพราะวิกรมสิงเหคนนี้สมัยเป็นนายกฯ ก็ถูกประชาชนเรียกร้องให้ลาออกเหมือนกัน ครั้นได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีรักษาการณ์กลายเป็นการยั่วอารมณ์ม็อบถึงขนาดบุกเผาบ้าน
ยิ่งสภาที่พรรคของราชปักษายังครองเสียข้างมากสนับสนุนเขาขึ้นเป็นผู้นำก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ประท้วงยิ่งไม่พอใจมองว่าประธานาธิบดีคนใหม่ต้องรับใช้กลุ่มอำนาจเก่า เรียกได้ว่าการเมืองศรีลังกายังต้องลุ้น
นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า ศรีลังกาไม่เพียงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการเศรษฐกิจและการเมือง แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ดังไปทั่วโลกในเวลานี้ สำหรับไทยบทเรียนเบื้องต้นที่ได้คือ ผู้นำต้องฟังเสียงประชาชน บริหารประเทศมายาวนานทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องให้คนอื่นที่มีฝีมือมากกว่า คนเราไม่มีใครเป็นที่ชื่นชอบได้ตลอดกาล